กรมส่งเสริมการเกษตร รุกแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เน้นสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา นำเสนอการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ และสนับสนุนใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผา มุ่งสู่การทำการเกษตรปลอดการเผาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่โล่ง พื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ทำให้ดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดจากการเผาทำลาย พร้อมเสนอแนะทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผาให้กับเกษตรกรด้วย

...

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา กรมฯได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ค.2564 ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถขยายเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 280 เครือข่าย ในพื้นที่ 60 จังหวัด โดยผลการสำรวจจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 31 พ.ค. 2564 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) พบว่า ภาพรวมจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทย มีจำนวน 12,705 จุด ลดลงร้อยละ 51.71 จากเดิม จำนวน 26,310 จุด ในปี 2563 โดยเป็นจุดความร้อนที่อยู่ในพื้นที่การเกษตร จำนวน 3,320 จุด ลดลงร้อยละ 47.17 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งมีจำนวนถึง 6,285 จุด



อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมฯ พร้อมเดินหน้าโครงการฯ ต่อเนื่อง มีเป้าหมายสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพกรผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกร ให้ได้ 294 เครือข่าย ในพื้นที่ 60 จังหวัด พร้อมจัดอบรมหลักสูตรถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทางการเกษตรปลอดการเผา มีความรู้พื้นฐานด้านผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และสามารถนำเสนอทางเลือกและสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผาแก่เกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างจิตสำนึกให้ยอมรับการทำการเกษตรแบบปลอดการเผา รวมทั้งจัดกิจกรรมนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา หรือส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะพิจารณาใช้เทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นจุดเรียนรู้และศึกษาดูงาน เช่น จัดทำแปลงเรียนรู้การไถกลบตอซังทดแทนการเผา ทำปุ๋ยหมัก เพาะเห็ดฟาง ผลิตอาหารสัตว์ ผลิตถ่านอัดแท่ง หรือการปลูกพืชทดแทน เป็นต้น โดยใช้หลักคิดการถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง เกษตรกรได้รับความรู้ถึงผลกระทบ มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา มาปรับใช้ในการทำการเกษตรแบบปลอดการเผาได้อย่างยั่งยืนต่อไป.