ชีวิตยุคโควิดช่างยากเข็ญ สิ่งลำเค็ญเป็นที่สุด...การทำมาหากินเลี้ยงปากท้องจุนเจือครอบครัว ที่มีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าผู้เจ็บป่วยจากการติดเชื้อ เพราะธุรกิจหลายอาชีพต้องปิดตัว มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนมีรายได้น้อยลงและไม่มีรายได้เลย

ตลาดป่าเป้ากรีนมาร์เก็ต หน้าวัดชัยชนะมงคล (วัดป่าเป้า) ต.ทรายมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ตลาดสีเขียวสำหรับสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพ และเพื่อความอยู่รอดของชุมชน น่าจะเป็นตัวอย่างของการสร้างงาน สร้างเงิน เพื่อเอาตัวรอดในยุคโควิดให้กับหลายชุมชนไม่มากก็น้อย

“เดิมเป็นพนักงานขายถั่งเช่า มาเจอโควิดระบาดรอบ 2 ยอดขายไม่มี เพราะเขาสั่งซื้อกันทางออนไลน์ เราเลยตกงาน กลับมาอยู่บ้าน ช่วยพ่อแม่เพาะกล้าไม้ ขายเมล็ดพันธุ์ และเอาผลผลิตจากที่ปลูกมาแปรรูปเป็นอัญชันอบแห้ง กะเพราอบแห้ง ก่อนหน้านี้เอาไปขายตามตลาดที่อื่น ตลาดก็ถูกปิดอีก แต่พอมีตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยของเราเอง รายได้ 3 คนพ่อแม่ลูก จากเดิมที่เคยขายได้เดือนละ 20,000 บาท เพิ่มมาเป็น 40,000 บาท นี่รวมทั้งการขายทางออนไลน์ของตัวเอง เพราะตลาดป่าเป้าช่วยให้คนรู้จักสินค้าของเรามากขึ้น”

...

นายกรกนกภัตร เกตุกนกจินดาธัช วัย 45 ปี หนึ่งผู้ประสบภัยโควิด พูดถึงสิ่งที่ได้จากตลาดป่าเป้ากรีนมาร์เก็ต ตลาดที่เกิดการระบาดระลอก 3 ได้ไม่นาน ด้วยเสียงเรียกร้องของชาวบ้านในชุมชนที่ทำมาหากินเลี้ยงปากท้องด้วยการทำเกษตรแบบพอเพียง ต้องการนำผลผลิตของตัวเองออกมาขายหารายได้เลี้ยงครอบครัวในยุคโควิด ที่การงานนั้นหายาก

ครั้นจะนำผลผลิตที่มีคนละเล็กละน้อยไปขายในพื้นที่ต่างถิ่น นอกจากจะไม่คุ้มค่า ยังเสี่ยงต่อการไปติดเชื้อจากคนต่างถิ่นนำมาแพร่กระจายในชุมชนของตัวเอง

ด้วยภายใต้การนำของ นายสุทัศน์ สุวรรณประสิทธิ กำนัน ต.ทรายมูล หัวเรี่ยวหัวแรงในการประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเปิดตลาดบริเวณพื้นที่ว่าง 1 ไร่ หน้าวัดที่เจ้าอาวาสอนุญาตให้ทำได้ เพราะเข้าใจในหัวอกชาวบ้านที่ต้องใช้ชีวิตในยุคโควิด

แน่นอนการจะเปิดตลาดให้ชาวบ้านทำมาค้าขายหาเงินเข้าบ้านในยุคนี้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ มาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ...ตลาดแห่งนี้มีวิธีการที่น่าสนใจ

ที่อื่นมีมาตรการแบบไหน ที่นี่มีหมด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ก่อนเข้าตลาดทั้งแม่ค้า พ่อค้า และลูกค้าต้องลงชื่อที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ โดยมี อสม.นั่งคุมเข้มตลอดเวลาทำการของตลาดตั้งแต่ 09.00-15.00 น. ที่เปิดขายเฉพาะวันอาทิตย์และวันพระ

แต่ที่ต่างออกไป วัดอุณหภูมิน้อยไป เขามีตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดด้วย แผงขายสินค้าในตลาดจะมีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อทุกๆ 2 ชั่วโมง การซื้อขายในตลาดไม่ใช้เงินสดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ติดมากับธนบัตร เงินที่พกมาต้องเอามาใส่ถาดฉีดพ่นฆ่าเชื้อ จากนั้นให้เอาเงินไปแลกเป็นคูปอง ถึงจะเข้าตลาดได้

ก่อนจะเข้าตลาดต้องเดินผ่านซุ้มฆ่าเชื้อตลอดทั้งตัว และรองเท้าที่สวมใส่มาต้องเหยียบย่ำไปบนใยบวบฆ่าเชื้อ ถึงจะเดินเข้าตลาดได้...แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าไปช็อปสินค้าได้

เขาอนุญาตให้เฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น โดยมีกรรมการหมู่บ้านมานั่งคัดกรองการันตีว่าคนไหนคือคนในหมู่บ้าน เพื่อป้องกันบุคคลแปลกถิ่นจะพกเชื้อโควิดที่มองไม่เห็นมาแพร่

...

แต่คนแปลกถิ่นไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีโอกาสได้ช็อปสินค้าเกษตรปลอดภัย ที่ชาวบ้านปลูกเองไว้กินเองมีเหลือเอามาขายแบ่งปัน เพราะที่นี่มีบริการพิเศษ...เข้าตลาดไม่ได้ แต่เขามีรายการสินค้าให้เลือกซื้อ จะซื้ออะไร เท่าไร จากร้านไหน มีเจ้าหน้าที่คอยรับออเดอร์ เข้าไปเดินซื้อและนำสินค้ามาให้ที่หน้าตลาดคล้ายๆบริการดีลิเวอรียังไงยังงั้น

แม้จะเป็นตลาดเล็กๆ มีแผงค้าแค่ 35 ร้านค้า แม้มูลค่าการซื้อขายแต่ละวันจะไม่มากมายเหมือนตลาดทั่วไป แต่ได้สร้างสีสันและความหวังให้กับชุมชนบ้านป่าเป้าในยุคโควิดได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

“ก่อนหน้านี้เป็นผู้จัดการฝ่ายตลาดห้างโมเดิร์นเทรด พอเจอโควิดระบาดตกงาน ต้องกลับมาอยู่บ้าน ขายกล้วยทอด เพราะที่บ้านปลูกกล้วยไว้มาก เลยนำมาแปรรูปทำเป็นสินค้า ปกติเคยขายได้ไม่เกินวันละ 300 บาท แต่พอมีตลาดขายได้ 500-700 บาท แม้จะไม่มากมาย พออยู่ได้ มีความมั่นคง เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแทบไม่มีอะไร เพราะมีปลูกกินเองไม่ต้องไปซื้อเขา ที่สำคัญการได้กลับมาอยู่บ้าน ลูกได้มาช่วยงาน ช่วยให้ครอบครัวมีความอบอุ่น ไม่ต้องมารู้สึกเป็นห่วงกังวลเรื่องลูกเหมือนเมื่อก่อน”

น.ส.ปดิวัรดา มั่นธรรม วัย 42 ปี อีกผู้ประสบภัยโควิด ที่ได้เริ่มต้นความหวังใหม่ในชีวิตอีกครั้งเพราะมีตลาดให้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง.

ชาติชาย ศิริพัฒน์