แม้อยู่ห่างไกลสุดขอบชายแดนก็ไม่อาจพ้นวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดทั่วไทย ด้วยเส้นทางที่ยากลำบากทำให้หมู่บ้านเลตองคุ จ.ตาก แทบจะถูกลืม ก็ยังมี จนท.และคนอีกส่วนที่ยังเป็นห่วงไปดูแลคนชายขอบห่างไกล

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กระจายไปทั่วประเทศของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนแดนไทย-เมียนมา ที่สถานการณ์ฝั่งประเทศเพื่อนก็ยังไม่สู้ดี ส่งผลให้พื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติไปทั่วทุกอำเภอตลอดแนวชาย และที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นหมู่บ้านเลตองคุ หมู่ที่ 10 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก หมู่บ้านกะเหรี่ยงฤๅษีแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการปกครองตัวเองแบบ มีฤๅษีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และมีการถือศีลกินเจที่เคร่งครัด เป็นผู้นำตามระบบการปกครองท้องถิ่นของไทย ที่นี่มีประชากรกว่า 1,600 คน และเป็นพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร  

หมู่บ้านเลตองคุ ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าทึบเดินทางยากลำบากที่สุด ในพื้นที่แนวชายแดน จ.ตาก เนื่องจากเส้นทางจากตัวอำเภออุ้มผาง ไปถึงหมู่บ้านเลตองคุ มีระยะทาง 102 กิโลเมตรที่ลัดเลาะยอดภูเขาสูง แต่ในช่วงฤดูฝน ถนนเข้าหมู่บ้านกลายเป็นทะเลโคลนลึกเกือบตลอดเส้นทาง เนื่องจากพื้นที่นี้ฝนตกหนัก จุดที่หนักสุดอยู่ช่วงเส้นทางระหว่างหมู่บ้านเลตองคุไปจนถึงหมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ระยะทางเชื่อมต่อสองหมู่บ้านนี้ระยะทางเพียง 15 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าครึ่งวัน

...

สำหรับจำนวนผู้ป่วย โควิด-19 ตำบลแม่จัน ล่าสุดมีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้นรวม 174 ราย (ข้อมูลเมื่อ 23 ส.ค.64) แต่ที่มียอดผู้ป่วยมากที่สุด คือ หมู่บ้านเลตองคุจำนวน 133 ราย ภายหลังการระบาดในหมู่บ้าน ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำบ้านเลตองคุ และจากโรงพยาบาลอำเภออุ้มผาง ได้ตรวจพบชาวบ้านเลตองคุติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก และยอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องเปิดปฏิบัติการปิดหมู่บ้านไปเมื่อกลางเดือน ส.ค.64 ที่ผ่านมา โดย จนท.ต้องเดินทางเข้าหมู่บ้านเพื่อตรวจเชิงรุกชาวบ้าน

แต่การเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ ยากลำบากแบบสุดๆ เท่าที่เคยมีมาในจังหวัดตาก ที่ผ่านมารถพยาบาลหลายคันต้องติดกลางกองทะเลโคลนไปต่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน และต้องร้องขอรถชาวบ้านและกำลังพลทหารในหมู่บ้าน มาช่วยกันชักลากด้วยความทุลักทุเล เป็นอุปสรรคสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและการเดินทาง แม้ขณะนี้จะมีการตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือ Community Isolation : CI ภายในหมู่บ้านเลตองคุ เพื่อใช้เป็นจุดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนทีมตรวจเชิงรุก นำโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภออุ้มผาง และหน่วยงานทหาร ก็ลงพื้นที่เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 คัดกรองให้กับชาวบ้าน แต่ก็ประสบปัญหาชุดตรวจมีไม่เพียงพอ เนื่องจากการขนส่งอุปกรณ์ทุกอย่างเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ส่วนผู้ป่วย ขณะนี้ มีรายงานว่ามีเด็กเล็กและผู้ใหญ่ติดเชื้อหลายราย และจำนวนไม่น้อยที่อาการน่าเป็นห่วงต้องส่งต่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภออุ้มผาง ส่วนผู้ป่วยอาการเล็กน้อยและปานกลางเจ้าหน้าที่ให้กักตัวอยู่ในบ้าน หรือ (Home Isolation : HI) แต่อย่างไรก็ตามทำให้ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนถุงยังชีพ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางหาอาหารได้ตามปกติ จากคำสั่งปิดหมู่บ้านชั่วคราวเพื่อสกัดโรคที่ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ 

พระณัฐพงษ์ ถาวโร พระจิตอาสานักพัฒนา แห่งวัดป่าพุทธรัตนอุทยาน ต.หนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ถือว่า เป็นอีกหนึ่งท่าน ที่มีส่วนร่วมในการเป็นสะพานบุญ เป็นสื่อกลางในการระดมความช่วยเหลือ จากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็น เครือข่ายจิตอาสาที่เคยช่วยเหลือ กิจกรรมกันมาอย่างต่อเนื่อง ในการส่งสิ่งของบริจาคที่จำเป็น เช่น ชุด PPE หน้ากากแมสก์ ทั้งแบบมาตรฐานและแบบ N95 รวมถึงระดมข้าวของ เครื่องใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ เข้าช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ และ ชุมชนหมู่บ้านเลตองคุแห่งนี้

พระจิตอาสานักพัฒนา กล่าวถึงสภาพปัญหาการแพร่ระบาด โรคโควิด-19 ว่า พื้นที่ อ.อุ้มผาง นั้น ต้องยอมรับว่ามีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในช่วงแรกที่มีการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน เนื่องจากปัญหาในเรื่องภาษา และ การรับรู้ข้อมูลด้านลบที่ได้รับจากสื่อ ในเรื่องของผลกระทบจากการฉีดวัคซีน ทำให้มีการพูดต่อๆ กันไปในหมู่ชาวบ้าน จนเกิดความกลัวและไม่กล้ามาฉีดวัคซีน

พระณัฐพงษ์ ถาวโร กล่าวอีกว่า ส่วนในหมู่บ้านเลตองคุนั้น ชาวบ้านมีประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อของชนเผ่า มีการประกอบพิธีกรรมเพื่อปัดเป่ารังควาน ที่เชื่อว่าจะสามารถป้องกันโรคโควิด-19 โดยก็เป็นไปตามความเชื่อของชุมชน แต่ก็ต้องยอมรับว่า การที่จะเอาชาวบ้านออกมาฉีดวัคซีนในตัวอำเภอนั้น เป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกัน เพราะเส้นทางการคมนาคมเป็นไปด้วยความลำบาก นอกจากนี้หมู่บ้านเลตองคุนั้น ยังเป็นหมู่บ้านที่มีพรมแดนอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และ มีการปฏิสัมพันธ์กันแบบเครือญาติไปมาหาสู่กันข้ามชายแดนอีกด้วย

...

อีกหนึ่งหน่วยงานที่อยู่ในหมู่บ้านเลตองคุ ตำรวจตระเวนชายแดน พ.ต.ต.อัครพล ฤทธิ์เลื่อน ผู้บังคับกองร้อย ตชด.347 เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 64 ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลอุ้มผาง ว่า มีการเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ตำบลแม่จัน บ้านเลตองคุ ได้พบว่ามีผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีการติดโควิค-19 จากการตรวจด้วยชุดตรวจแบบแอนติเจน เทสท์ คิต หรือ ATK และเมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบ มีผู้ป่วยบ้านเลตองคุ ติดโควิด-19 จำนวนมาก จึงได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ส่งชุดเคลื่อนที่เร็วจำนวน 12 นาย ขึ้นไปเพื่อสนับสนุนกำลังพลที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่เลตองคุมีหมวด ตชด.3472 เป็นฐานปฏิบัติการบ้านเลตองคุ และมีโรงเรียน ตชด.บ้านเลตองคุ อยู่ ในการตั้งจุดตรวจคัดกรอง และปิดหมู่บ้านตามคำสั่งของทางจังหวัด เพื่อไม่ให้มีการเข้าออกหมู่บ้าน เพื่อป้องกันยับยั้งการระบาดของโรค

ผู้บังคับกองร้อย ตชด.347 กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของงานพยาบาลได้เตรียมยาเวชภัณฑ์ อาทิ ยาพาราเซตามอล แก้ปวดลดไข้ และสารสกัดฟ้าทะลายโจร สำหรับบรรเทาอาการโรคโควิด-19 เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนยาไว้กินเบื้องต้น แต่ในส่วนในการเดินทาง ต้องเรียนว่าเป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากต้องเดินทางเป็นระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตรจากตัวอำเภออุ้มผาง ถึงบ้านเปิ่งเคลิ่งโดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง และจากบ้านเปิ่งเคลิ่งไปถึงบ้านเลตองคุ เส้นทางส่วนนี้ถนนเป็นดินลูกรังเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพราะถนนเป็นทะเลโคลน ใช้การเดินทางด้วยเท้าและรถโฟร์วีลขับเคลื่อน 4 ข้อ ที่มีวินซ์ชักรอกด้านหน้าในการเดินทาง 

...

มาถึงตรงนี้สำหรับท่านผู้อ่านคนใด มีความประสงค์จะร่วมบริจาคอุปกรณ์ เครื่องมือการแพทย์ ที่ใช้ในการรักษา ช่วยเหลือประชาชนผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร สามารถสนับสนุนได้โดยตรงที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง โทร. 055-561-088 นายชนม์ชนก ลิขิตวัฒนเกียรติ หัวหน้าสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง โทร. 081-379-0682 หรือ หากจะร่วมบุญโดยผ่านพระสงฆ์ เพื่อให้ท่านช่วยเป็นสะพานบุญ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก พระณัฐพงษ์ ถาวโร หรือ โทรสอบถามได้ที่ โทร.091-0196778.