โควิดระบาดพื้นที่ชายแดน จ.ตาก หมู่บ้านฤาษีบ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง ติดแล้ว 85 ราย มีแนวโน้มพุ่งสูง เผยพื้นที่สุดทุรกันดารถนนเป็นทะเลโคลน จนท.เร่งสร้าง รพ.สนาม ส่วน อ.แม่สอด คนตายเพิ่มจนเผาไม่ทัน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก เข้าขั้นวิกฤติไปทั่วทุกอำเภอตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยที่น่าเป็นห่วงอยู่ที่หมู่บ้านเลตองคุ หมู่ที่ 10 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านฤาษีแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าทึบ เดินทางยากลำบากที่สุด ในพื้นที่แนวชายแดนจังหวัดตาก โดย วานนี้ (16 ส.ค.64) ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำบ้านเลตองคุ และจากโรงพยาบาลอำเภออุ้มผาง ได้ตรวจพบชาวบ้านเลตองคุติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 85 ราย และยอดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนต้องเปิดปฏิบัติการปิดหมู่บ้านโดยทันทีเพื่อออกตรวจเชิงรุกชาวบ้านทั้งหมู่บ้านที่มีจำนวนกว่า 1,596 คน
...
รายงานข่าวแจ้งว่า การทำงานเชิงรุกค่อยข้างยากลำบากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในจังหวัดตาก เนื่องจากเส้นทางจากตัวอำเภออุ้มผางไปถึงหมู่บ้านเลตองคุ ระยะทาง 102 กิโลเมตร ที่เป็นเส้นทางดอย ถนนลัดเลาะยอดภูเขาสูง ขณะนี้ถนนเข้าหมู่บ้านกลายสภาพเป็นทะเลโคลนลึกเกือบตลอดเส้นทาง เนื่องจากฝนตกหนักมาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา หนักสุดอยู่ช่วงเส้นทางระหว่างหมู่บ้านเลตองคุไปจนถึงหมู่บ้านเปิ้งเคลิ่ง ระยะทางเชื่อมต่อสองหมู่บ้านนี้ระยะทางเพียง 15 กิโลเมตร โดยต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าครึ่งวัน และรถพยาบาลหลายคันต้องติดกลางทะเลโคลนไปต่อไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน และต้องร้องขอรถชาวบ้านและกำลังพลทหารในหมู่บ้านมาช่วยกันชักลากด้วยความทุลักทุเลทุกคัน จนเป็นอุปสรรคสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและการเดินทางของทีมเจ้าหน้าที่
สถานการณ์ภายในหมู่บ้านเลตองคุ เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายกำลังเร่งก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม และต้องทำงานแข่งกับเวลา ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 5 วันนี้โรงพยาบาลสนามบ้านเลตองคุจะแล้วเสร็จ ซึ่งระหว่างรอการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามในหมู่บ้าน ทีมตรวจเชิงรุกก็ลงพื้นที่เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้กับชาวบ้าน แต่ก็ประสบปัญหาชุดตรวจมีไม่เพียงพอ เนื่องจากการขนส่งอุปกรณ์ทุกอย่างเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ขณะที่ผู้ป่วยขณะนี้มีรายงานว่ามีเด็กเล็กและผู้ใหญ่ติดเชื้อหลายราย และหลายรายอาการน่าเป็นห่วง ต้องส่งต่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภออุ้มผาง ส่วนผู้ป่วยอาการเล็กน้อยและปานกลาง เจ้าหน้าที่ให้กักตัวอยู่ในบ้าน ทำให้ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนถุงยังชีพ เนื่องจากไม่สามารถเดินทางหาอาหารได้ตามปกติ จากคำสั่งปิดหมู่บ้านชั่วคราวเพื่อสกัดโรคที่ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ ซึ่งคาดว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในครั้งนี้ อาจจะมาจากมีคนต่างด้าวเข้ามาเยี่ยมญาติภายในหมู่บ้านเลตองคุเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตปกติในหมู่บ้านแนวชายแดน ก่อนจะมีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็วในหมู่บ้าน
...
ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ข้อมูลวานนี้ (16 ส.ค.) ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงถึง 3,314 ราย ซึ่งแบ่งการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดและโรงพยาบาลเอกชนเกือบ 600 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนักและอาการปานกลางต้องใช้ออกซิเจน โดยมีทีมแพทย์โควิด-19 ดูแลในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยระดับสีเขียวหรือไม่แสดงอาการ ขณะนี้ถูกแบ่งไปรักษาตัวที่บ้าน และกักตัวเองในพื้นที่กักตัวของชุมชน และกักตัวรักษาภายในโรงงานทั่วพื้นที่อำเภอแม่สอด อีกจำนวนสองพันกว่าราย ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวติดเชื้อ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดชนิดที่ว่ายิ่งตรวจยิ่งเจอในทุกพื้นที่อำเภอแม่สอด ทำให้สิ่งของในการปฏิบัติการภาคสนามเริ่มขาดแคลน และเจ้าหน้าที่ต้องทำงานเหนื่อยล้าตลอด 24 ชั่วโมง
...
แต่ที่น่าตกใจมากในขณะนี้พบว่า มีผู้ป่วยหลายรายซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว และอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ เสียชีวิตวันละหลายราย และเสียชีวิตลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวเสียชีวิตรวมกัน ซึ่งการจัดการบริการศพผู้เสียชีวิตโควิดบางวัน หน่วยกู้ชีพมูลนิธิพิทักษ์กาญจน์เขตนครแม่สอดต้องนำศพโควิดไปเผาที่สุสานแม่สอดวันละ 5-8 ศพ ทำให้เตาเผาศพถูกใช้งานอย่างหนักจนหลายฝ่ายหวั่นเตาเผาศพจะชำรุด เนื่องจากต้องเผาศพทุกวัน และเผาวันละหลายศพ ทั้งศพปกติและศพผู้ป่วยโควิด ล่าสุดทางมูลนิธิโรงพยาบาลแม่สอดได้เปิดรับบริจาคเงินทุนในพื้นที่แม่สอด เพื่อเร่งจัดซื้อเตาเผาศพปลอดมลพิษแบบติดตั้งชั่วคราว สามารถเคลื่อนย้ายได้และสามารถเผาศพได้ตลอดเวลา เพื่อใช้ลดภาระเตาเผาศพในสุสานแม่สอดซึ่งใช้งานอย่างหนักเกรงจะชำรุดในเร็ววันนี้ หลังยอดผู้เสียชีวิตโควิดในอำเภอแม่สอดยังคงเพิ่มขึ้นแบบรายวัน
สำหรับข้อมูลยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดตาก ประจำวันที่ 17 ส.ค.2564 ทาง สสจ.ตาก รายงานว่า ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 122 ราย, ติดเชื้อภายในประเทศ จำนวน 118 ราย เป็นต่างด้าวลักลอบข้ามแดน จำนวน 1 ราย และพนักงานขับรถ จำนวน 3 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564-17 สิงหาคม 2564 มีจำนวน 7,623 ราย และผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563-17 สิงหาคม 2564 รวม 7,972 ราย ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงกับผู้ติดเชื้อ รายที่ 7,850-7,972 ทั้งหมดกักตัว และอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว.
...