ล่วงเข้าสิงหาคม 2564 เกือบสองปี ที่ไวรัสโคโรนาอุบัติขึ้น และแข็งแรงขึ้นตามลำดับ ล้างผลาญเผ่าพันธุ์มนุษย์ราวกับศัตรูคู่แค้น

สำหรับประเทศไทย ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสเฉกเช่นเดียวกับนานาประเทศ หลายที่หลายแห่งหลายจังหวัด ความเสียหายที่เกิดขึ้น สุดที่จะประมาณได้ 

เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจใครหลายคน เกือบ 2 ปี คนที่นี่ต่อสู้กับโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า เหน็ดเหนื่อยหนักหนาสาหัส จากแทบจะหมดหวัง พลิกกลับมามีความหวัง ทำท่าจะชนะ แต่ที่สุดกลับกลายเป็นพ่ายแพ้..

สุดทางที่ช้างคลาน..

28 กรกฎาคม.. ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี ส่งผลให้บรรยากาศย่านถนนศรีดอนไชย ต.ช้างคลาน อ.เมืองเชียงใหม่ แหล่งรวมเกสต์เฮาส์ ไม่เหลือเค้าลางของความคึกคักอีกต่อไป ทุกอย่างหยุดนิ่ง ถนนแทบไร้รถรา อาคารร้านค้าอยู่ในสภาพร้างผู้คน

ไม่เฉพาะแต่เกสต์เฮาส์ที่ล้มหายตายจาก ธุรกิจรถเช่าที่ถือว่าเป็นของคู่กัน ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ทุกวันนี้แทบไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ เจ้าของต้องตัดสินใจยอมขายรถในราคาถูก เพื่อหาทุนมาประคับประคองธุรกิจไว้ให้ได้นานที่สุด โดยหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นและทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

...

นายมนตรี จิตติกานนท์ อายุ 65 ปี เจ้าของธุรกิจรถเช่า เล่าว่า เปิดร้านรถเช่ามานานกว่า 36 ปี เคียงคู่เกสต์เฮาส์ในย่านเดียวกัน ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกสต์เฮาส์ส่วนใหญ่ในย่านนี้ต้องปิดกิจการอย่างถาวร หลายรายขนเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในเกสต์เฮาส์ออกมาขายทั้งหมด เหลือเพียงห้องและอาคารโล่งๆ

ธุรกิจรถเช่า ก่อนหน้านี้มีรถในร้านประมาณ 40-50 คัน การท่องเที่ยวเฟื่องฟูจนรถที่มีอยู่แทบไม่เพียงพอให้บริการ โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็กลายเป็นอดีต ทุกวันนี้แทบจะไม่มีลูกค้า เพราะลูกค้าหลักที่นิยมมาเช่ารถจักรยานยนต์จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อปิดประเทศ จึงทำให้รายได้เหลือศูนย์ และสถานการณ์ที่ยืดเยื้อทำให้ต้องตัดสินใจขายรถบางส่วนในร้านเป็นรถมือสอง เพื่อนำเงินที่ได้มาพยุงกิจการให้อยู่รอด โดยมีความหวังว่า สถานการณ์จะกลับมาดีขึ้น

"ในอดีตย่านถนนศรีดอนไชยคึกคักมาก เพราะอยู่ติดกับไนท์บาซาร์ จุดศูนย์กลางของแหล่งท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการร้านค้า ร้านอาหาร เกสต์เฮาส์ ผับ บาร์ แต่โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหายไป ส่วนตัวเองที่ยังคงอดทนอยู่ ก็เพราะทำธุรกิจนี้มานาน และอาศัยปรับตัวตามสถานการณ์ แต่ก็หวังว่าทุกอย่างจะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นในเร็ววันนี้"

ความรวดร้าวอันยาวนาน ของสถานบันเทิง..

22 กรกฎาคม.. หลังสถานการณ์โควิดระลอกล่าสุด ยาวมาเกือบ 5 เดือน สถานบันเทิง ผับ บาร์ ในย่านต่างๆ ของเชียงใหม่ มีสภาพไม่ต่างกับ “ร้านร้าง” ถูกปิดมานานจนฝุ่นเกาะเต็มโต๊ะ บางร้านถึงขั้นเขียนป้ายติดไว้หน้าร้านว่า “รับสมัครลูกค้าจำนวนมาก”

ผู้ประกอบการสถานบันเทิงชื่อดังรายหนึ่ง บอกว่า การแพร่ระบาดในระลอกล่าสุดนี้ถือว่าหนักสุด และสถานบันเทิงเป็นธุรกิจแรกที่ถูกสั่งปิด ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน จนถึงขณะนี้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาเปิดได้ เพราะจังหวัดเชียงใหม่ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง มีคลัสเตอร์เกิดใหม่เรื่อยๆ แต่ถึงแม้ไม่มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง 4 เดือนแล้ว แต่มีรายจ่ายทุกเดือน โดยเฉพาะค่าเช่าที่ เปิดร้านหลายรายเจรจาขอลดค่าเช่าที่ได้ แต่หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อออกไป ก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าของที่จะใจดีอยู่หรือไม่ ส่วนพนักงาน จำเป็นต้องหยุดจ่ายเงินค่าจ้าง เพราะทางร้านไม่มีรายได้เข้ามาเลย  

นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า สถานบันเทิงในจังหวัดเชียงใหม่มีประมาณ 200 ร้าน หลังถูกสั่งปิดตามคำสั่งของภาครัฐ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนย่างเข้าสู่เดือนที่ 5 คาดว่าจะมีสถานบันเทิงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ที่ปิดตัวไปเลย ส่วนที่เหลือมีบางแห่งที่ปรับตัวมาเปิดขายอาหาร แต่ยังเป็นเรื่องยาก ด้วยภาพลักษณ์ของการเปิดผับ บาร์

ส่วนร้านอาหารทั้งจังหวัดเชียงใหม่มีประมาณ 2,000 แห่ง หลังผ่อนคลายมาตรการให้กลับมาเปิด และให้ลูกค้านั่งกินในร้านได้ มีร้านอาหารกลับมาเปิดได้ประมาณร้อยละ 30-50 จากทั้งหมด แต่ล่าสุดหลัง ศบค.ปรับให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง ห้ามนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ทำให้ยอดขายลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10-30 เท่านั้น ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานบันเทิงจะกลับมาเปิดได้เมื่อไหร่ ถ้ามองแง่ดี เร็วสุดอาจเป็นช่วงกลางปี 2565 แต่หากมองในแง่ร้าย ก็อาจกลับมาเปิดได้ช่วงต้นปี 2566 โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการแทบไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากภาครัฐ ส่วนแรงงานในระบบ ได้รับแต่เงินชดเชยรายได้จากประกันสังคมไม่กี่พันบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพของทุกคน

"สถานประกอบการในระบบที่เป็นร้านเครื่องดื่ม ร้านอาหาร สถานบันเทิง ในเชียงใหม่ที่มีกว่า 14,000 แห่ง มีแรงงานที่อยู่ในระบบเกือบ 80,000 คน แต่หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 มีแรงงานในระบบลดลงไปกว่าร้อยละ 50 หรือกว่า 40,000 คน สมาคมฯจึงพยายามขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อเป็นตัวแทนให้ผู้ประกอบการในการพูดคุยและเสนอแนะให้ภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบทั้งหมด"

ภาพคนไร้บ้าน ณ ข่วงประตูท่าแพ..

24 กรกฎาคม..ตลอดทั้งวันผู้คนจำนวนมากที่มีทั้งคนตกงาน คนไร้บ้าน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้มาปักหลักรอรับการแจกอาหารจากผู้ใจบุญที่นำมาบริจาค บริเวณลานข่วงประตูท่าแพ อ.เมืองเชียงใหม่ เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ในแต่ละรอบที่มีผู้มาแจกอาหาร ผู้ที่เฝ้ารออาหารนับร้อยคนต่างวิ่งกรูกันเข้าแถวโดยไม่เว้นระยะห่าง จนทำให้ผู้พบเห็นจึงกังวลว่าจะกลายเป็นจุดแพร่ระบาดโควิด-19

...


นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่เทศกิจ และตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ เข้ามาจัดระเบียบการแจกจ่ายอาหาร โดยพบว่า มีประชาชนนำสิ่งของบริจาคมารวบรวมที่บริเวณลานข่วงประตูท่าแพกันเป็นจำนวนมาก ทั้งน้ำดื่ม ข้าวกล่อง นมกล่อง และอาหารแห้ง เจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือให้ทุกคนเข้าแถวแบบเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

แต่ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ปฏิบัติตาม มีบางคนเวียนรับของบริจาคหลายครั้ง ทำให้ทางเทศบาลเตรียมเปลี่ยนสถานที่จุดบริจาคสิ่งของ ไปใช้พื้นที่โรงยิมฟุตซอล สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่

นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากย้ายสถานที่ไปในวันพรุ่งนี้ จะประกาศให้ผู้ใจบุญงดแจกจ่ายอาหารที่ลานข่วงประตูท่าแพ เนื่องจากไม่สามารถจัดการดูแลและควบคุมจำนวนคนที่อาจจะมารวมตัวกันเกิน 50 คน ตามมาตรการควบคุมโรคได้

ความหวังอันรำไรของแม่ค้าไส้อั่ว..

30 กรกฎาคม.. ตลาดวโรรส หรือกาดหลวง แหล่งจำหน่ายอาหารพื้นเมืองและของฝากชื่อดัง ที่เคยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว วันนี้สุดเงียบเหงา นางศิริขวัญ พรมสาร อายุ 45 ปี เจ้าของร้านดำรงค์ ร้านจำหน่ายของฝากอาหารเหนือในตลาด เปิดขายมานานกว่า 40 ปี บอกว่า ยอดขายลดลงต่อเนื่องจากมาตรการปิดประเทศและควบคุมการเดินทาง จนต้องลดปริมาณการผลิต และสั่งซื้อทั้งไส้อั่ว แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม หมูทอด ลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่เปิดร้าน

...

สภาพกาดหลวง ตลาดวโรรส แหล่งของฝากขึ้นชื่อ ใครไปเชียงใหม่ต้องแวะซื้อ
สภาพกาดหลวง ตลาดวโรรส แหล่งของฝากขึ้นชื่อ ใครไปเชียงใหม่ต้องแวะซื้อ"ไส้อั่ว"

ส่วนการขายช่องทางออนไลน์ มีการแข่งขันสูง และที่ผ่านมามีลูกค้าบางรายรับสินค้าจากร้านไปขายผ่านออนไลน์อยู่แล้ว ทุกวันนี้จึงอาศัยขายหน้าร้าน "คงต้องกัดฟันสู้เพื่อพยุงกิจการที่เปิดมานานหลายสิบปีต่อไป และไม่คาดหวังกับการเปิดประเทศในเร็ววันนี้ ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ เชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติในเร็ววันนี้" แม่ค้าไส้อั่ว กล่าว

บันทึกวันประวัติศาสตร์ สนามบินเชียงใหม่.. 

22 กรกฎาคม.. บรรยากาศภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเชียงใหม่ เงียบเหงาที่สุดในประวัติศาสตร์ จากจำนวนเที่ยวบินที่กลายเป็น 0 หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ประกาศห้ามสายการบินบินเข้าออกและรับส่งผู้โดยสารในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ตามที่ ศบค.กำหนด เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม..

เคาน์เตอร์สายการบิน รวมทั้งร้านค้าต่างๆ พากันปิดให้บริการ พื้นที่บางส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน มีการปิดไฟเพื่อประหยัดพลังงาน มีเพียงเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีเพียงไม่กี่คน เป็นภาพและบรรยากาศที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่เงียบเหงาที่สุด นับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2466

...

ความวังเวงที่สนามบินเชียงใหม่ ในวันที่ไร้เที่ยวบิน
ความวังเวงที่สนามบินเชียงใหม่ ในวันที่ไร้เที่ยวบิน

นาวาอากาศโท มัธยัณห์ ไกรสรทองศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภายหลังการปฏิบัติตามคำสั่งของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ในการปิดสนามบิน 14 วัน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ดำเนินการตามคำสั่ง เมื่อทำการปิดทุกอย่างภายในอาคาร และเมื่อเที่ยวบินเป็นศูนย์แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องมีการลดการใช้พลังงานด้วย และจะเปิดไฟแสงสว่างเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนร้านค้าภายในตัวอาคารผู้โดยสารได้ปิดการให้บริการทั้งหมด เนื่องจากไม่มีผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม ยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยภายในตัวอาคาร

"การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง จากช่วงเวลาปกติเคยมีเที่ยวบินต่อวันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ วันละกว่า 250 เที่ยวบิน มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละเกือบสองหมื่นคน เมื่อโควิด-19 ระบาด ช่วงกลางปี 2563 เที่ยวบินและผู้ใช้บริการลดลงครึ่งต่อครึ่ง ตั้งแต่ต้นปี 2564 เที่ยวบินยังคงลดลงต่อเนื่องตามสถานการณ์ ล่าสุดวันที่ 20 กรกฎาคม เหลือเพียง 6 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารไม่ถึง 1,000 คน ก่อนที่จะงดเที่ยวบินตามประกาศ กพท. ในวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา"

ดอยอินทนนท์ยืนยังปิดไม่มีกำหนด..

30 กรกฎาคม.. ช่วงเช้า เพจอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ประชาสัมพันธ์พร้อมกลับมาเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ หลังจากปิดการท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564

แต่แล้วในเวลา 14.50 น. วันเดียวกัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แจ้งกับสื่อมวลชน ยืนยันว่า อุทยานฯยังคงปิดการท่องเที่ยวตามประกาศอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ออกมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ระบุ ขยายเวลาปิดแหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งในเขตอุทยานฯ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ ประกอบกับที่ประชุมหมู่บ้าน 29 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มีมติที่ให้ปิดหมู่บ้านไปก่อน

นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เผยว่า ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ยังคงยืนยันปิดต่อไปตามประกาศดังกล่าว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยังไม่มีกำหนดที่จะเปิดในวันที่ 15 ส.ค.64 แต่อย่างใด โดยข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทางไลน์ @Doi Inthanon นั้นเบื้องต้นเป็นเพียงแผนงานเพื่อนำเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งประเมินสถานการณ์ว่าหากแนวโน้มคลี่คลายและดีขึ้นก่อนวันที่ 15 ส.ค.64 แล้วหากต้องเปิดจะดำเนินการเช่นไร ทั้งนี้ ได้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารทำให้มีการเผยแพร่ออกไปดังกล่าว และต้องขออภัยที่อาจจะทำให้เกิดความกังวลใจ

ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันต่อไป..

27 กรกฎาคม..ที่ตลาดเมืองใหม่ ตลาดค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรแหล่งใหญ่ที่สุดของเชียงใหม่ หนึ่งในคลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและคนงานเข็นผักในตลาดกว่า 300 คน แม้ได้ผลเป็นลบไม่พบผู้ติดเชื้อในตลาด แต่ข่าวที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มลูกค้า ผู้ให้บริการในตลาดจึงร่วมแรงร่วมใจสู้กับโควิด

สู้จนถึงที่สุด ชาวตลาดจัดรถเข็นผัก  บริการส่งถึงรถแม่ค้า เพื่อลดความแออัด
สู้จนถึงที่สุด ชาวตลาดจัดรถเข็นผัก บริการส่งถึงรถแม่ค้า เพื่อลดความแออัด

นายสุขพสิษฐ์ เก่งกาจ ผู้ให้บริการโรงจอดรถพี่เอก หนึ่งในพื้นที่ให้บริการจุดจอดรถและขนถ่ายสินค้าทางการเกษตรภายในตลาด ได้ขอความร่วมมือลูกค้า จากปกติที่จะขับรถเข้ามารับสินค้าจากรถขนส่งที่โรงจอด ให้งดเข้ามาภายในพื้นที่ โดยให้โทรศัพท์ หรือส่งข้อความไลน์แจ้งออเดอร์กับผู้ค้า และให้จอดรถรอด้านนอกถนน ทางโรงจอดรถจะเป็นผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์พ่วง หรือรถเข็นผัก นำสินค้าไปส่งให้ถึงรถ เพื่อลดความแออัดในพื้นที่โรงจอด โดยบริการให้ลูกค้าฟรี ค่าจ้างรถพ่วงและคนเข็นผัก ทางโรงจอดรถเป็นฝ่ายจ่ายให้

"ข่าวที่ออกไปทำให้ตลาดเมืองใหม่ถูกมองเป็นพื้นที่เสี่ยงแพร่กระจายเชื้อ ที่ผ่านมาทุกคนในตลาดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด และผลตรวจไม่พบคนติดเชื้อในตลาด จึงขอให้ลูกค้าและประชาชนเข้าใจ หากยังแชร์ข้อมูลไปโดยไม่มีข้อเท็จจริง จะส่งผลกระทบกับกลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ที่อาจขายผลผลิตไม่ได้"..