“ลำปาง” น่าจะเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดของประเทศไทย ที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในระดับที่น่าพอใจ
แน่นอนว่าข่าวคราวของจังหวัดนี้ ได้รับความสนใจเป็นกรณีพิเศษจากสื่อและผู้คนบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเมื่อพ่อเมืองคนปัจจุบัน “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” เคยโด่งดังยิ่งจากฉายา “ผู้ว่าฯหมูป่า” ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในภารกิจช่วยชีวิต 13 นักฟุตบอลติดถ้ำหลวงเมื่อปี 2561
แต่ความสนใจที่ได้จากสื่อ หรือทักษะในการประชาสัมพันธ์ ก็คงไม่สามารถทำให้ลำปางยืนระยะครองพื้นที่สื่อได้อย่างสม่ำเสมอ หากไร้ซึ่งผลงานอันเป็นที่ประจักษ์หรือจับต้องได้
นอกจากเป็นจังหวัดที่สามารถรณรงค์ให้คนในพื้นที่ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ด้วยยอดจองวัคซีนมากกว่า 220,000 คน (ข้อมูลเมื่อเดือน พ.ค.2564) ท่ามกลางข่าวผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ซึ่งทำให้ผู้คนเข็ดขยาด ลังเลใจที่จะฉีด
...
ลำปางยังเพิ่งประกาศความสำเร็จในฐานะจังหวัดที่ปลอดผู้ติดเชื้อครบ 30 วัน (ณ วันที่ 26 มิ.ย.2564) ก่อนที่จะทำไข่แตกอีกครั้ง หลังมาตรการปิดแคมป์คนงาน ซึ่งทำให้มีคนงานจำนวนหนึ่งไหลเข้าจังหวัดโดยบางส่วนติดโควิด “เรามองเห็นตัวเลขอยู่ ปกติจะมีคนเข้าประมาณวันละ 100-200 คน แต่หลังรัฐสั่งปิดแคมป์คนงาน ตัวเลขคนเดินทางเข้าจังหวัดขยับขึ้นเป็น 300 คน” ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าว
“ผมต้องนัดประชุมกับหมอ เกรงว่าถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ควบคุมไม่ได้ ระบบสาธารณสุขจังหวัดจะอลหม่าน หมอเสนอว่าให้เปิดโครงการ “รับคนลำปางกลับบ้าน” วิธีนี้จะทำให้ทุกอย่างถูกต้อง เข้าระบบ บุคลากรทางการแพทย์ทำงานง่ายขึ้น ซึ่งตั้งแต่เราเปิดโครงการเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มีติดต่อมาใช้บริการแล้ว 38 คน แต่ต้องบอกว่าเรารับเฉพาะคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในลำปางเท่านั้น”
นอกจากทำให้ทุกอย่างเป็นระบบแล้ว ที่มาของโครงการ “รับคนลำปางกลับบ้าน” ยังมีแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์น่าเศร้าที่ย้อนกลับไปเมื่อเดือน เม.ย.2564 เมื่อหนุ่มชาวลำปางวัย 24 ปี ตัดสินใจขับรถจากกรุงเทพฯกลับบ้าน เนื่องจากมีอาการป่วยแต่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้
“เด็กผู้ชายคนนี้ขับรถกลับบ้านด้วยความรับผิดชอบ ซื้อของกินตุนไว้เต็มรถ แวะปัสสาวะแค่ครั้งเดียวเพราะทนไม่ไหว เขาไม่ได้แวะเข้าบ้านเพราะกลัวเอาเชื้อไปติด ขับรถตรงมาที่โรงพยาบาล จอดรถที่ลานแดดร้อนเปรี้ยง พอ รปภ.วิ่งเข้าไปหา เขาบอกว่าอย่าเข้ามาใกล้ เขาคิดว่าเขาติดเชื้อ เรารับเข้ารักษาอยู่ราว 20 วัน สุดท้ายเสียชีวิต เคสนี้ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พวกเราตัดสินใจเดินหน้าโครงการ “รับคนลำปางกลับบ้าน” เพราะเรานึกถึงเด็กผู้ชายคนนั้น”
ปัจจุบันลำปางมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดอยู่ที่ 2 คน และหวังว่าจะไม่มากไปกว่านี้ มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ประมาณ 262 คน มีสต๊อกหน้ากากอนามัย ชุด PPE แอลกอฮอล์ ต่างๆ และชุดตรวจโควิดไม่ต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์ มีเตียงพร้อมดูแลผู้ป่วยโควิดราว 300 เตียง และมีคนฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 44,000 คน (ข้อมูล ณ 1 ก.ค.2564) ยังไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งหมดที่ 750,000 คน โดยมีเป้าหมายจะต้องฉีดได้ครอบคลุม 500,000 คน
ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ พูดถึงแนวทางในการทำงานเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติเช่นนี้ว่า จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน กรณีโรคระบาดก็ต้องพึ่งพาทักษะความรู้ของหมอ ซึ่งเชี่ยวชาญกว่า คนที่เหนื่อยหนักคือทีม สิ่งที่ผู้นำต้องทำคือให้กำลังใจ ทำงานลงรายละเอียด การทำงานแบบนี้ทีมสำคัญมาก ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันให้ได้ ซึ่งถือเป็นความโชคดีของทีมลำปาง ที่สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
...
“ในภาวะที่การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ต้องทำงานอย่างเข้มแข็ง ติดตามผู้เดินทางเข้า-ออก ชุมชนลำปางส่วนหนึ่งเริ่มเป็นชุมชนเมือง ความใกล้ชิดในชุมชนน้อย อสม.ต้องเข้มแข็งและทำงานเชิงรุก ขณะเดียวกันการเลือกที่จะปิดเมือง จะทำให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลายได้ ต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ทำมาหากินด้วย ถ้าทุกคนอยากไปต่อ ก็ต้องร่วมมือ รับผิดชอบร่วมกัน โดยขณะนี้ลำปางได้เตรียมแผนโปรโมตท่องเที่ยวฤดูหนาวรองรับเอาไว้แล้ว”
ส่วนคำตอบสุดท้ายสำหรับการเดินหน้าต่อคือการทำใจยอมรับว่าโควิดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและการเร่งฉีดวัคซีน.
ศุภิกา ยิ้มละมัย
...