“ดั้งเดิมพ่อแม่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สลับกับปลูกกระเทียม นอกจากเจอกับปัญหาแล้ง น้ำไม่เพียงพอ กระเทียมแห้งตาย บางปีผลผลิตล้นตลาด ซ้ำบางปีมีกระเทียมจีนเข้ามาตีตลาด หากยังทำไร่ยึดวิถีเดิมตามพ่อแม่หนี้สินเกิดขึ้น จึงเริ่มศึกษาเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นบ้าง สังเกตเห็นเพื่อนบ้านข้างเคียงปลูกกล้วยหอม มีผลผลิตเก็บขายได้เรื่อยๆ จึงปรับพื้นที่เปลี่ยนมาปลูกกล้วยหอมบ้าง”

นางศรีนวล ทองเหลือง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่กล้วยหอมเมืองแกน ต.ช่อแล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังถึงที่มาของชีวิตทำเกษตรที่เปลี่ยนไป...พื้นที่ 1 ไร่ เอาหน่อกล้วยหอมมาปลูก ผลผลิตรุ่นแรกทั้งผล หวีขนาดไม่สม่ำเสมอ บางหวีลูกสั้น บางหวีลูกยาว รูปทรงแต่ละลูกโค้งงอ ทรงไม่สวย กล้วยแต่ละลูกขนาดไม่เท่ากัน ขายค่อนข้างยาก เลยเปลี่ยนมาปลูกกล้วยหอมสายพันธุ์เพชรบุรีทั้งหมด เสียเวลาไปอีกปีครึ่ง แต่ตลาดรับซื้อก็ยังมีน้อย

ต้องนำกล้วยไปขายเองในตลาดชุมชนพร้อมกับเริ่มสังเกตตลาดคนกินว่าชอบกล้วยหอมแบบไหน

“ปลูกกล้วยไม่ได้กล้วยๆ จะปลูกตามใจฉันไม่ได้ ต้องเลือกสายพันธุ์ที่ตลาดกลุ่มผู้บริโภคต้องการ ภาคเหนือนิยมกล้วยหอมสายพันธุ์ปทุม ขนาดหวีผลใหญ่สม่ำเสมอ รูปทรงสวย หวีผลกล้วย ลูกยาว เรียงเป็นระเบียบ ผิวนวล เปลือกบาง เนื้อเหนียว สุก ผิวเหลืองทองนวล กลิ่นหอม รสหวาน 16-23 บริกซ์ เป็นที่ต้องการของตลาดและยังต้านทานโรคใบเหี่ยว ใบจุด”

...

ปี 2557 ซื้อหน่อสายพันธุ์กล้วยหอมปทุมมาจากสวนกล้วยจาก อ.พร้าว 300 หน่อ ในราคา 4,000 บาท เอามาปลูก ในพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อเก็บหน่อทำพันธุ์ขยาย ผลผลิตช่วงแรกส่งให้สวนที่ไปซื้อหน่อพันธุ์มา ได้ราคา 100 ลูก 70 บาท หักแล้วมีกำไร 3,000 บาท กล้วยรุ่นสองให้ผล ลองไปขายเองในตลาดชุมชน ได้ราคา 100 ลูก 250 บาท ได้กำไรเกือบหมื่นสอง

ได้ราคาดีกลับมาขยายพื้นที่ปลูกเป็น 5 ไร่ พร้อมชักชวนเพื่อนบ้าน ให้ได้พื้นที่มากบริหารดีๆ จะมีกล้วยขายตลอดทั้งปี ช่วงนั้นการปลูกกล้วยยังเป็นพืชตัวใหม่เลยไม่มีใครสนใจ ยังส่งตลาดได้เพียงพอ...แค่ดูแลให้น้ำ ห่อเครือให้ผลกล้วยหอม ผิวสวยสีเหลืองทอง มีเท่าไรขายได้หมด

กล้วยหอมได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด จากลูกค้าในพื้นที่ขยายไปยังตลาดใกล้เคียง รวมถึงร้านสะดวกซื้อ และบริษัทรวบรวมผลผลิตส่งออก หลังเพื่อนบ้านมองว่าการปลูกกล้วยหอมมีตลาดรองรับ หลายคนเริ่มปรับพื้นที่ปลูกกล้วยและเข้าเป็นสมาชิกชุมชนแปลงใหญ่มีพื้นที่ 320 ไร่ ผลผลิตปีละ 100,200 ตัน สินค้าเกรด A ส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลี จีน ห้างโมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้อ ส่วนที่เหลือขายตลาดชุมชน

กลุ่มผู้บริโภคเริ่มรู้จักกล้วยหอมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เมืองแกน ตลาดเริ่มไปได้ดีมีแรงเติบโต แต่มาเกิดปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดหยุดนิ่ง ส่งออกไม่ได้ จึงขอความช่วยเหลือไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาฯ ให้ข้อมูลแนะนำสำหรับการผลิตสินค้าเกษตรว่า ยังสามารถ ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ทั้งผลสดและการแปรรูป แต่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญด้านมาตรฐานและกระบวนการผลิต จะทำให้มีทางเลือกในการทำตลาดได้ง่าย

“สำหรับกล้วยหอมตลาดหลักอยู่ในแถบอาเซียน จีน ฮ่องกง จากสถานการณ์แพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 และสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้ความต้องการตลาดเปลี่ยนไป จากเดิมต้องการกล้วยผลสด ต้องเปลี่ยนมาเป็นกล้วยหอมแปรรูปซึ่งปัจจุบันตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน”

...

นับเป็นความโชคดีที่กลุ่มแม่บ้านไทย มีความถนัดในการนำกล้วยมาแปรรูป ทั้งกล้วยฉาบ กล้วยเบรกแตก จึงเป็นโอกาสดีในการควบคุมมาตรฐานได้ง่าย เพราะมีการรับผลผลิตจากกลุ่มสมาชิก เพิ่มมูลค่าผลผลิต ยืดอายุการเก็บรักษาให้นานยิ่งขึ้น

รู้จักปรับกระบวนการผลิตให้ตรงกับปากและความต้องการของ ผู้บริโภค...ตามหลักการ ตลาด นำการผลิต ตลาดไม่มีทางตัน อย่างแน่นอน.

เพ็ญพิชญา เตียว