ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์แจง ปมป้ายคัดค้านแปลงที่ป่าสงวนเป็นราชพัสดุ มาจากปัญหาพื้นที่ที่ทหารขอใช้ทับซ้อนป่าสงวน ต้องการให้ชาวบ้านเดิมได้อยู่ต่อทุกคนมีสิทธิ์เช่าที่ราชพัสดุ ย้ำไม่ได้ตกเป็นของนายทุน
กรณีพบป้ายยักษ์ผุดขึ้นริมถนนทางเข้า เมาเท่นพาร์ครีสอร์ท บ้านห้วยไผ่ เขตเทศบาลตำบลแคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ข้อความว่า “ร่วมกันต้าน ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ที่ขอให้ ครม.เปลี่ยนป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อให้นายทุนและนักการเมืองใช้เขาค้อเป็นโมเดล ช่วยนักการเมืองที่รุกป่า ถือครองที่ป่าได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมปกป้องผืนป่า ป่าสงวนเป็นของประชาชนทั้งประเทศ”
ที่ต่อมา นายประสม ประคุณสุขใจ เจ้าของป้ายยักษ์และเมาเท่นพาร์ครีสอร์ท กล่าวถึงสาเหตุของการขึ้นป้ายว่า อยากปลุกกระแสให้สังคมรับรู้ และออกมาช่วยกันปกป้องผืนป่า โดยเฉพาะพื้นที่เขาค้อนั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำ 1A และเป็นสมบัติของชาติ โดยก่อนหน้านี้ นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ อดีต ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ ได้ยื่นหนังสือให้ ครม. 2 ฉบับเพื่อให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงป่าสงวนให้เป็นที่ราชพัสดุ อันจะส่งผลให้นายทุนที่บุกรุกป่าสงวนได้กรรมสิทธิที่ดินอย่างถูกกฏหมาย ต่อมานาย กฤษณ์ คงเมือง ผวจ.พช.คนปัจจุบันก็ได้ยื่นหนังสือลักษณะเดียวกันอีก 1 ฉบับ โดยกระบวนการดังกล่าวอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
...
ด้าน นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวถึงเรื่องการขึ้นป้ายคัดค้านว่า เขาค้อนั้นมีปัญหาสะสมนานกว่า 30 ปีแล้ว เดิมทีทหารนำที่ดินที่ขอใช้จากกรมป่าไม้จำนวน 30 ปีไปมอบให้กับประชาชนที่ช่วยรบคือ รอส.ได้ใช้เป็นที่ดินทำกินและเป็นแนวกันชนจากคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 2518 แต่แนวทางนี้กลับทำไม่สิ้นสุด เพราะครบกำหนดทหารส่งคืนที่ดินให้กรมป่าไม้ จนกระทั่งที่ดินทำกินของชาวบ้าน 4 ตำบลทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนที่กรมป่าไม้ประกาศเมื่อปี 62 ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ตัวผู้ว่าฯ ได้ดำเนินการตามตัวบทกฎหมาย ทราบว่าคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบพื้นที่แก้ไขปัญหาจะลงพื้นที่เร็วๆนี้ และหากเป็นตามแนวทางนี้ ทุกคนก็มีสิทธิ์เช่าที่ดินราชพัสดุได้เหมือนกัน และขอยืนยันว่าที่ดินไม่ได้ตกเป็นของเอกชน ยังคงเป็นของรัฐเหมือนเดิม ล้วนเป็นการแก้ปัญหาที่ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างถูกกฎหมาย
ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ค.64) นายณรงค์ บ่วงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาการถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 ตำบลของอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ที่กลายเป็นปัญหาสะสมมาสิบปีนั้น ด้วยการที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือนแต่ก็ทราบและเข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวที่ เรื่องนี้เริ่มจาก ทหารได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ที่มีสัญญานาน 30 ปีเพื่อให้ชาวบ้านที่ช่วยรบในอดีตได้มีที่ทำกิน ก็ต้องยอมรับว่าภาครัฐนำคนไปอยู่ไม่ใช่ประชาชนไปบุกรุก
ผอ.สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.เพชรบูรณ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ก็ได้มีการประชุมระดับจังหวัดในรูปแบบของคณะกรรมการ ที่ร่วมกันหาแนวทางแก้ไข โดยจะแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ กล่าวคือจะเข้าไปจัดการในส่วนของพื้นที่ที่ทหารขอใช้เท่านั้น มิใช่ไปดำเนินการหมดทั้งอำเภอเขาค้อส่วนที่มีการประกอบธุรกิจต่างๆ ก็วางแนวทางให้กรมธนารักษ์เป็นผู้กำกับดูแล ภายใต้ระเบียบของกรมป่าไม้ ซึ่งจะต้องให้กรมป่าไม้และกรมธนารักษ์มาบูรณาการร่วมกัน
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ทางสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการของ คณะกรรมการแก้ไขที่ดินทำกินแห่งชาติหรือ คทช.ไปพิจารณาตั้งแต่เดือน ก.พ.แล้ว แต่เพราะติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางลงสำรวจพื้นที่ และเมื่อแก้ปัญหาเสร็จแล้วที่ดินก็ยังคงเป็นของรัฐอยู่เช่นเดิม และประเด็นสำคัญนั้นสำนักงานฯก็ได้ทำตามคำสั่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 23/64 ภายใต้กรอบของกฏระเบียบ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (20 พ.ค.) พบว่ามีประชาชนบางส่วนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของ 4 ตำบลที่ทหารขอใช้ คือ ตำบลริมสีม่วง ตำบลสะเดาะพง ตำบลเขาค้อ และตำบลหนองแม่นา ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้ดำเนินการต่อไป เพราะได้อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานหลายสิบปีแล้วก็อยากจะได้อยู่อาศัยด้วยความถูกต้อง อีกยังพบว่าผู้ประกอบการได้ลงทุนในธุรกิจเป็นเงินจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบและอีกหลายราย ก็ถูกดำเนินคดีจากภาครัฐ ซึ่งหากมีการแก้ไขปัญหาที่ดินแล้ว ผู้ประกอบการก็จะพร้อมใจปฏิบัติตามเงื่อนไขจากภาครัฐทุกอย่าง
...
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจบางรายที่มีความเห็นต่าง กล่าวว่า อยากให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เห็นด้วยกับการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ก็ไม่มีใครอยากออกมาเปิดเผยตัวตนในการแสดงความคิดเห็น เพราะจะกลายเป็นประเด็นขัดแย้ง หรือสร้างศัตรูกับผู้ประกอบการด้วยกัน รวมทั้งอาจขัดแย้งกับผู้มีอำนาจเพราะอาจไม่ได้รับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และมีความเชื่อว่าที่ดินที่เป็นป่าสงวนหรือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิอีกหลายแห่ง หรืออุทยานแห่งชาติต่างๆ ก็อาจจะได้รับการแก้ไขในลักษณะเดียวกัน.