ปัจจุบันปัญหามลภาวะทางอากาศในประเทศไทยทวีความรุนแรงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดโรคต่างๆตามมาอีกมากมาย ทำให้หลายหน่วยงานได้หาวิธีป้องกันอันตรายจากฝุ่นพิษ

ล่าสุด มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ติดตั้งหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) บริเวณลานสนามกีฬากลางแจ้งภายในรั้วมหาวิทยาลัย นับเป็นเครื่องแรกในภาคเหนือ และเครื่องที่ 3 ในประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดี และ ดร.ชัชวาล วงค์ชัย ผู้ช่วยอธิการบดี นำทีมงานนักวิจัยทดสอบความพร้อมในการใช้งานเรียบร้อย

หอฟอกอากาศดังกล่าวมีขนาด 2.4×2.4×5.1 เมตร มีหลักการทำงานระบบการกำจัดฝุ่นแบบ Jet Venturi Scrubber เป็นการพ่นละอองน้ำขนาดเล็กเพื่อดักฝุ่น และระบบดูดอากาศจากด้านบนตัวเครื่องผ่านระบบการจัดการฝุ่นและฆ่าเชื้อ พ่นอากาศบริสุทธิ์ได้ในรัศมี 20-25 เมตร และใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนตัวเครื่อง

สำหรับหอฟอกอากาศ 2 เครื่องแรกอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปี 2563 จุดแรกภายในโครงการ 101 True Digital Park ย่านพระโขนง และเครื่องที่ 2 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงต่อควันพิษ

รศ.ดร.สุภกรเปิดเผยว่า การติดตั้งหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier tower) ครั้งนี้เพื่อเป็นฟอกอากาศในช่วงสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัย เป็นแหล่งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบต่อพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของประชาชน พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างความตระหนักต่อการดูแลสุขภาพในสภาวะฝุ่นควัน

อีกทั้ง สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการรับมือฝุ่น PM 2.5 ในอนาคต ทั้งสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านวิศวศึกษาโดยมีชุมชนเป็นฐาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ หน่วยวิจัยมลพิษบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

...

ปัญหาฝุ่นพิษเป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน.

อักษิฏาธรณ์ เสมอเชื้อ