สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ พด.จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โครงการฟ้าห่มปก สู่เกษตรกรรมที่มั่นคงยั่งยืน หนุนเกษตรกรจากปลูกพืชเชิงเดี่ยว ให้ทำขั้นบันไดดิน และปลูกหญ้าแฝก สกัดหน้าดินพังทลาย

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.64 นายธีร์รรัฐ ไชยเทพ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำในโครงการฟ้าห่มปก ที่อยู่ในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ได้ดำเนินการในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ได้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและให้ความร่วมมือกับสถานีฯเป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ดินและน้ำ การบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ เช่น เกษตร กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ และผู้นำท้องถิ่น รวมถึงชุมชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี กับโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำในโครงการฟ้าห่มปกนี้ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม

นายมานิด หมื่นจรรยา หมอดินอาสาประจำตำบลแม่สาว กล่าวว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ ได้เข้ามาแนะนำการปรับปรุงดิน โดยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้กับพืชที่เกษตรกรปลูก จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมโครงการทำขั้นบันไดดิน และปลูกหญ้าแฝกช่วยแก้ปัญหาดินสไลด์ลงด้านล่าง เพราะเมื่อก่อนช่วงหน้าฝนจะทำให้ดินเกิดการชะล้างของหน้าดิน และสนับสนุนเกษตรกรในการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำทำให้ดินชุ่มชื้น พร้อมทั้งให้ความรู้การอนุรักษ์ดินและน้ำ การใช้ปูนโดโลไมท์เพื่อปรับสภาพดินอีกด้วย จะเห็นได้ว่าเกษตรกรในพื้นที่มีความรู้ด้านการปลูกพืชการดูแลดินได้ดีมากขึ้น ทำให้ชีวิตเกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เนื่องจากเกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และหันมาใช้เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดินอีกด้วย

...

ด้าน นายพัฒนา ชัยมงคล เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน หัวหน้าหน่วยพัฒนาที่ดินที่ 1 สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ กล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมเกษตรกรในด้านงานจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว สถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ยังส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก การใช้ปุ๋ยหมัก พด.1 การใช้น้ำหมัก พด.2 สนับสนุนในทุกๆ ด้านพร้อมทั้งลงพื้นที่คอยช่วยเหลือดูแลเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ปลูกพืชได้หลายชนิด ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผลสำเร็จจากงานจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโครงการฟ้าห่มปก ส่งผลให้เกษตรกรสามารถจัดการพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ มีสัดส่วนในการปลูกพืช อีกทั้งยังพึ่งพาตนเองและคนในชุมชนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการฟื้นฟูผืนป่าให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อย่างเต็มพื้นที่.