สยบข่าวลือพยาบาลแม่สอดตายเพราะวัคซีนโควิด ผอ.โรงพยาบาลแม่สอด แจงผลชันสูตรพบหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดอุดตัน ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่ล่าสุด จ.ตาก พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 8 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 หลังจากที่มีข่าวลือสะพัดว่าพยาบาลโรงพยาบาลสามเงา จังหวัดตาก เสียชีวิตอย่างไร้สาเหตุเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข่าวลือมากมายว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ส่งผลให้การฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง คือ อำเภอแม่สอด และอำเภอใกล้เคียง มีผู้มาใช้บริการค่อนข้างน้อย ซึ่งจังหวัดตากได้รับการจัดสรรวัคซีนซีโนแวคลอตที่ 2 จำนวน 75,000 โดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ข้อมูลจนถึงวันที่ 15 เมษายน เพิ่งฉีดไปได้เพียง 29,874 โดส หรือคิดเป็น 39.83 เปอร์เซ็นต์
ล่าสุดมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการ จากนายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ว่า ทางโรงพยาบาลแม่สอดมีการนำศพพยาบาลที่เสียชีวิตรายนี้มาผ่าชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตโดยนายแพทย์สมพงศ์ ขวัญเปรม นายแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลแม่สอด พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของพยาบาลรายนี้เกิดจากผู้วายชนม์เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมทั้งมีภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุทำให้เสียชีวิต ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดที่ฉีดจึงแจ้งเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ต่อไป ส่วนการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการคาดว่าอาจจะเป็นวันนี้
ขณะที่ นายแพทย์รเมศ ว่องวิไลรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดตาก เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดตาก ว่า ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน-14 เมษายน พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่เกี่ยวเนื่องจาก ผับ บาร์ จากสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี กลับมาตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่จังหวัดตาก ยอดรวม 8 ราย
รายแรกเป็นโปรแกรมเมอร์ อายุ 38 ปี ชายไทย อายุ 25 ปี, พนักงานห้างฯ ชายไทย อายุ 21 ปี, นักศึกษาหญิงไทย อายุ 32 ปี อาชีพ PR Cetus Club พัทยา, หญิงไทย อายุ 22 ปี นักศึกษา, ชายไทย อายุ 20 ปี นักศึกษา, หญิงไทย อายุ 23 ปี อาชีพ วิศวกร และหญิงไทย อายุ 20 ปี อาชีพนักศึกษา รวมทั้งหมด 8 ราย
...
ทั้งนี้จังหวัดตากมียอดผู้ป่วยโควิด-19 สะสมรวม 362 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 235 ราย ผู้ป่วยจากต่างประเทศ (เมียนมา) 127 ราย รักษาหาย 346 ราย เสียชีวิต 2 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 14 ราย อาการเล็กน้อยทั้งหมด
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ประกาศให้ผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี สระแก้ว นครราชสีมา ระยอง นครปฐม นนทบุรี ภูเก็ต และสุพรรณบุรี ต้องเข้าสู่มาตรการกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน โดยให้รายงานตัวกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือ อสม.ในพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประสานเจ้าพนักงานโรคติดต่อ ดำเนินการในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งผู้ปกครองที่จะเดินทางไปรับบุตรหลานที่ศึกษาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง 15 ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโควิด-19 ต่อไป.