ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนาม เดินหน้าเพิ่มจุดตรวจ หวังคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่มีประมาณ 5-6 พันคน ขณะที่ สสจ. ประเมินยอดผู้ติดเชื้อ อาจมีสูงถึง 1 พันคน

วันที่ 11 เมษายน นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมนายเแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ และจุดรับบริจาคสิ่งของ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังคงมีประชาชนทยอยนำสิ่งของมาบริจาคกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

ขณะที่จุดรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 บริเวณโถงด้านหน้าของโรงพยาบาลสนาม ยังคงมีผู้ติดเชื้อเดินทางมารายงานตัว และตรวจคัดกรองอาการ เอกซเรย์ปอดอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายนนี้ ได้วางแผนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามสมมติฐานที่วางไว้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่ในห้วงการปฏิบัติจริงอาจมีปัจจัยและตัวแปรต่างๆ เพิ่มเติม คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ได้ประชุมและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้รองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยโรงพยาบาลสนามที่วางไว้จะสามารถรอบรับผู้ป่วยได้ถึง 1 พันคน

...

ทั้งนี้ สถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เหมือนจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีระยะแพร่เชื้อยาวนานกว่า แต่ของเราเป็นการแพร่เชื้อในกลุ่มก้อนใหญ่ จึงมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือต้องค้นพบผู้ติดเชื้อให้ได้เร็วที่สุด เพื่อแยกตัวออกจากชุมชนมารักษาตัว จึงได้มีการเพิ่มจุดตรวจมากขึ้นแล้ว เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่คาดว่าจะมีมากกว่า 5 - 6 พันคนเข้ารับการตรวจอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ล่าสุดจังหวัดเชียงใหม่วันนี้ พบผู้ติดเชื้อ 281 คน รวมยอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 662 คน สาเหตุที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นก็เพราะเราเพิ่มจุดตรวจมากขึ้น ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ประเมินว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อถึง 1 พันคน

ส่วน นายแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแพร่ระบาดครั้งนี้อยู่ในกลุ่มนักศึกษา และวัยทำงาน โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบมีนักศึกษาติดเชื้อประมาณ 50-60 คน ทางคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น และรับตัวนักศึกษาที่ติดเชื้อไปดูแล เพื่อลดภาระของโรงพยาบาลสนามจังหวัดแล้ว

ด้านนายแพทย์ อำพร ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดโรงพยาบาลสนามเมื่อวันที่ 9 เมษายน จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาแล้ว 228 คน เป็นชายและหญิงเท่าๆ กัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการได้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหลัก เบื้องต้นผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามส่วนใหญ่ไม่มีใครอาการหนัก โดย 2 - 3 วันนี้ก็มีปัญหาบ้าง เพราะหลายคนอาจไม่ได้รับความสะดวกสบายเป็นปกติของวัยรุ่น แต่ช่วงหลังก็เริ่มปรับตัวกันได้ เพราะที่โรงพยาบาลสนามมีเครื่องปรับอากาศ และมีไวไฟให้ใช้

สำหรับโรงพยาบาลสนาม หอผู้ป่วยที่ 1 มีจำนวน 312 เตียง กำลังจะเปิดในฮอลล์ ที่ 3 อีก 400 เตียง และห้องราชพฤกษ์อีก 200 เตียง คาดว่าจะรองรับได้ถึง 1 พันเตียง