เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของชาวนาไทย นายเชาว์วัช หนูทอง ประธานศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี ต.ท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ที่ทำการปลูกคัดเลือกพันธุ์ข้าว จนได้ข้าวพันธุ์ใหม่ ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ
แต่มีชื่อเรียกขานเพื่อป้องกันความสับสนว่า...เกยไชยแดง
ข้าวพันธุ์ “เกยไชย” ผู้บริโภคและชาวนาทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในวงการปรับปรุงพันธุ์ข้าว คงไม่ค่อยคุ้นหู เพราะเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาในปี 2561 โดยการปรับปรุงพันธุ์ของกลุ่มเกษตรชาวนาอินทรีย์ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ นำข้าวพันธุ์ “ช่อราตรี” ข้าวหอมของไทยอีกพันธุ์ ไปผสมกับข้าวพันธุ์ “บาสมาติ” ข้าวหอมขึ้นชื่อของอินเดีย ที่มีเมล็ดเรียวยาว หุงแล้วร่วน...จนได้ข้าวเกยไชยที่ออกมามีเมล็ดสีขาวใส เรียวยาว
ส่วนเกยไชยแดง ...เป็นข้าวเกยไชยธรรมดานี่แหละ
แต่ด้วยธรรมชาติของพืชที่เพาะจากเมล็ด มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย และจากการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวเกยไชยมาทดลองปลูกในพื้นที่ของตัวเอง บวกผสมกับความเป็นชาวนานักทดลอง ช่างสังเกตของ นายเชาว์วัช เลยทำให้รู้ว่า ข้าวที่นำมาปลูกเกิดการกลายพันธุ์ ได้ข้าวเกยไชย ที่มีเมล็ดเรียวยาวสีแดงราวทับทิม
...
เนื่องจาก “ข้าวช่อราตรี” ที่นำมาผสมกับข้าวบาสมาติของอินเดีย...มีปู่ย่าเป็นข้าวหอมนิล
“ผมได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเกยไชยจากนครสวรรค์มาแค่ขีดเดียว จึงนำมาทดลองปลูกคัดเลือกพันธุ์ ตั้งใจทำเพื่อให้ได้พันธุ์ที่บริสุทธิ์มากขึ้นเท่านั้นเอง”
ประธานศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี เล่าต่ออีกว่า เมื่อได้เมล็ดพันธุ์นำมาเพาะปลูกในบ่อซีเมนต์ที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อคัดเลือกพันธุ์โดยเฉพาะ เป็นบ่อซีเมนต์ขนาด 4,000 ตร.ม. แต่แบ่งซอยเป็นบ่อเล็กๆ ขนาด 4×4 ม. สูง 20 ซม. ใส่ดินไป 15 ซม.และเติมน้ำไปอีก 5 ซม.
เหตุผลที่เลือกใช้บ่อซีเมนต์ทำการปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ เนื่องจากสามารถควบคุมปัจจัยการผลิต ทั้งดิน น้ำ วัชพืช และกำจัดข้าวดีดข้าวเด้งได้ง่ายกว่าการปลูกในแปลงนาทั่วไป
ส่วนการใส่ปุ๋ย เชาว์วัช เลือกใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ โดยให้ปุ๋ยในช่วงเตรียมดิน กับตอนต้นข้าวอายุได้ 1 เดือน ในอัตรา ปุ๋ยอินทรีย์ 1 กก.ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. เท่ากันทั้ง 2 ครั้ง
ผลที่ได้มาจากพันธุ์ข้าว 1 ขีด ปลูกเว้นระยะห่าง 30×30 ซม. ปลูกได้ 4,000 กอ ปรากฏว่า หนึ่งในนั้นมีอยู่กอเดียวที่เกิดการกลายพันธุ์ กะเทาะเปลือกออกมาแล้วได้เมล็ดข้าวเป็นสีแดง เรียวยาวเฉลี่ย 10 มม. ในขณะที่ข้าวไทยทั่วไปมีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 6–7 มม.
จากเมล็ดข้าวกลายพันธุ์ 1 กอ คัดเลือกมาปลูกต่อเพื่อขยายพันธุ์ได้ 100 กอ...ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มากพอ ที่จะนำไปขยายปลูกในแปลงทั่วไปได้ถึง 6 ไร่ ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวเกยไชยแดง 3 ตัน
แต่เพื่อให้ข้าวเกยไชยแดงไม่เฉไฉกลายพันธุ์ไปเป็นอื่นอีก เชาว์วัช จึงตั้งเป้าจะปลูกคัดเลือกพันธุ์ต่อไป ให้ครบ 7 ครั้ง ตามทฤษฎีปรับพันธุ์ให้ได้พันธุ์ข้าวที่นิ่งอย่างแท้จริง.
ชาติชาย ศิริพัฒน์