เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จับมือทำแปลงใหญ่ แก้ปัญหาการซื้อขายเมล็ดกาแฟแปรปรวนจนถึงราคาตกต่ำ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอดอยสะเก็ด สำนักงานเกษตร จ.เชียงใหม่ เข้าส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาผลผลิตจนจดทะเบียน GI ส่งขายต่างประเทศได้

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แปลงใหญ่กาแฟเทพเสด็จที่ ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เป็นกาแฟที่อยู่บนที่สูง กระบวนการผลิตมีความโดดเด่นภายใต้เงื่อนไขแปลงใหญ่ที่จะต้องลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพผลผลิต ซึ่งการลดต้นทุนทำโดยใช้เปลือกกาแฟมาทำเป็นปุ๋ยหมักทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยลดมลภาวะดัวย เพราะไม่มีการเผา กลุ่มนี้มีความเข้มแข็งสามารถรวมกันจัดการเรื่องการจัดซื้อปัจจัยการผลิต แม้ว่าจะอยู่บนที่สูงทำให้ไม่ค่อยพบโรคแมลง แต่ก็ยังมีการเรียนรู้การผลิตสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เพื่อลดการใช้สารเคมีในการดูแลรักษา ซึ่งกาแฟเทพเสด็จปัจจุบันได้รับรอง GI เรียบร้อยแล้ว



นายนวนิตย์ พลเคน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการทำงานของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ ยึดหลักส่งเสริมการเกษตรเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือศูนย์ศพก. แปลงใหญ่กาแฟแห่งนี้มีคณะกรรมการที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีเป้าหมายการรวมกลุ่มกันที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ กระทั่งจดทะเบียน GI สามารถส่งไปขายที่ต่างประเทศได้

...

นางลออ ริญญา เกษตรอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอได้เข้ามาส่งเสริมด้านการเกษตรโดยเฉพาะเรื่องกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งยังถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม ทำให้ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต จนถึงการพัฒนาคุณภาพของกาแฟ ตลอดจนการบริหารจัดการกลุ่มไปสู่การเชื่อมโยงทางด้านการตลาด เพื่อให้กาแฟของที่นี่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟเทพเสด็จได้เชื่อมโยงกับศูนย์ศพก. ช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องการแปรรูปสินค้าให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยกลุ่มมีการตลาดที่เข้มแข็ง จำหน่ายสินค้าหลายช่องทาง ทั้งหน้าร้านและออนไลน์

นายสุวรรณ เทโวขัติ ประธานแปลงใหญ่กาแฟเทพเสด็จ กล่าวว่า กระบวนการผลิตกาแฟของกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การเพาะต้นกล้าเมล็ดกาแฟ เพื่อลดต้นทุนการผลิต นำมาลงแปลงปลูก ใส่ปุ๋ย ดูแลตัดแต่งกิ่งช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน จากนั้นกาแฟจะเริ่มออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม กระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน เมล็ดกาแฟเริ่มทยอยสุก เกษตรกรสมาชิกในกลุ่มจะรวมตัวกันเก็บเมล็ดกาแฟ ด้วยการเด็ดเก็บทีละผลจากต้นกาแฟ นำมาลอยน้ำแยกสิ่งเจือปน และแยกเมล็ดที่เสียออกจากกระบวนการผลิต

จากนั้นนำเมล็ดที่จมน้ำมาลอกเปลือกด้วยเครื่องลอกเปลือกภายใน 24 ชม. และหมักในถังด้วยน้ำเปล่า ใช้เวลาไม่เกิน 48 ชม. เสร็จแล้วนำมาแช่น้ำอีก 12 ชม. และล้างทำความสะอาด นำขึ้นโต๊ะตากจนได้เมล็ดกาแฟที่พร้อมนำมาคั่ว ซึ่งมีตั้งแต่คั่วอ่อน คั่วกลาง และคั่วเข้ม ก็จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟที่พร้อมทาน และบรรจุถุงจำหน่าย การที่ขายผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้อยู่ในหมู่บ้านและชุมชน ไม่มีการย้ายถิ่นฐานทำการเกษตร ทั้งยังยังทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น เพราะเด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจทำการเกษตรมากขึ้น.