พ่อเมืองตาก ลุยขับเคลื่อนแปลงใหญ่เพื่อนำเกษตรกรปรับตัวเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์เชื่อมโยงตลาด โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตาก มุ่งส่งเสริมกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ ต.ตลุกกลางทุ่ง แปรรูป เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวสร้างรายได้สู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 นายวุฒิภัทร ราชโยธิน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ ต.ตลุกกลางทุ่ง จ.ตาก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ เดิมเป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งเติบโตมาจากกลุ่มชบาเขียว พอปี 2556 ถึงได้เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับคิดทำนาข้าว เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐาน GAP หลังจากนั้นจึงรวมตัวกันและสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกันทำ ร่วมกันสร้าง จนได้รับรองมาตรฐาน GAP แต่ถ้าจะขายให้ได้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นก็ค่อนข้างจะยาก จึงคิดต่อยอดมาตรฐานสู่มาตรฐานข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดของการทำเกษตร จึงเข้าร่วมกับรัฐบาล ชื่อโครงการอินทรีย์ล้านไร่ หลังจากนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดตากได้เข้ามาส่งเสริมให้เป็นศูนย์ ศพก. เพื่อขยายความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเรื่องข้าว และเรื่องข้าวครบวงจร เนื่องจากกลุ่มมีการผลิตข้าวครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการทำพันธุ์ข้าว การแปรรูปข้าว และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าว ให้เกษตรกรรายอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาและนำไปปรับใช้ได้ด้วย
...
นางเยาวเรศ ทิฐธรรม เกษตรจังหวัดตาก กล่าวว่า สำหรับศูนย์ ศพก. หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ถือได้ว่าเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรได้ในหลายๆ มิติ แล้วเกษตรกรที่เป็นประธานกลุ่มของ ศพก.ก็คือเกษตรกรต้นแบบ เพราะฉะนั้นในส่วนของเกษตรกรต้นแบบจะมีบทบาทหน้าที่ และมีความรู้ในการจะถ่ายทอดสู่เกษตรกรรายอื่นๆ จุดนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของสมาชิกทั้งหมด ในส่วนของแปลงของประธานกลุ่มก็ใช้องค์ความรู้ของตัวเกษตรกรเอง และถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรสมาชิกในกลุ่ม โดยเน้นการผลิตข้าวอินทรีย์ การใช้สารชีวภัณฑ์ในการจัดการศัตรูพืช นอกจากนั้นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวภายใต้ ศพก. แห่งนี้ยังมีกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มผลิตชีวภัณฑ์ กลุ่มแปรรูปข้าว กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มบริการอื่นๆ ด้วย
ด้านนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.ตาก กล่าวว่า การขับเคลื่อนแปลงใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ 1. เรื่องการเพิ่มจำนวนแปลงใหญ่ที่เข้ามาสู่ระบบก็จะมีการไปกระตุ้นไปให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อที่จะให้เขารับทราบว่าการเข้ามารวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่มีประโยชน์อย่างไร ส่วนที่ 2. เรื่องคุณภาพของแปลงใหญ่ซึ่งเดิมทั้ง 70 แห่ง เราต้องการพัฒนาคุณภาพเพิ่มขึ้นและเรื่องการพัฒนาให้เกษตรกรปรับตัวเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ ส่วนที่ 3. เป็นเรื่องการเชื่อมโยงตลาด ซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการพัฒนาคุณภาพและปริมาณ โดยให้เซลล์แมนประจำจังหวัด คือ พาณิชย์จังหวัดืทำงานควบคู่ไปกับเกษตรจังหวัด เพื่อที่จะให้ไปดูเรื่องของจังหวัดให้เรียบร้อย การนำสินค้าลงไปสู่ตลาดที่ขายให้ได้ราคาตามคุณภาพที่เราทำขึ้น โดยทั้ง 3 ส่วนจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รอง ผวจ.ตาก กล่าวว่า เราส่งเสริมให้แปลงใหญ่รวมกลุ่มในวิสาหกิจชุมชน ให้เดินอยู่ได้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จึงได้มีการส่งเสริมจัดทำเป็นแบรนด์ของจังหวัดภายใต้ชื่อว่าตากการันตี คือ 1. หลังจากที่เกษตรกรสมัครเข้ามาเสร็จแล้วจะมีคณะกรรมการพิจารณาว่าจะให้อยู่ในระดับกี่ดาว ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์ ต.ตลุกกลางทุ่ง ก็ได้ระดับ 5 ดาว กลุ่มสามารถพัฒนากลุ่มแปลงใหญ่ภายใต้วิสาหกิจชุมชนจนได้เป็นเกษตรอินทรีย์ ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่จังหวัดพยายามสร้างตราให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วม และส่งเสริมให้เกษตรกรทำผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างมีคุณภาพจะได้ค้าขายภายใต้สินค้าที่มีคุณภาพและผู้บริโภคก็ได้รับความปลอดภัยจากสินค้าที่ได้ตราตากการันตี จะเห็นได้ว่าจากการที่เกษตรกรกลุ่มนี้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดตากมาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งขึ้น ผลผลิตจากข้าวก็สามารถนำมาแปรรูปต่อยอดสร้างรายได้ภายในกลุ่มได้อีกด้วย.