สถาบันคชบาลฯ ร่วมกับสัตวแพทย์มช. สหพันธ์ช้างไทย แถลงอาการช้าง 5 เชือกที่กินสารเคมีใน อ.อมก๋อย รักษาที่ รพ.ลำปาง ล่าสุดอาการดีขึ้นตามลำดับ รอผลเลือดหากเป็นปกติ อีกครึ่งเดือนกลับบ้านได้ พบแกลลอนยาฆ่าหญ้าถูกทิ้งเกลื่อนในพื้นที่เกษตร เผยปัจจุบันสารพิษถูกแต่งกลิ่นจนช้างแยกไม่ออก 

วันที่ 7 มีนาคม โรงพยาบาลช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย น.สพ.ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้างฯ น.สพ.ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการให้การดูแลรักษาช้างเลี้ยง จำนวน 8 เชือก ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสบเหตุสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร จนส่งผลให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพของช้าง

ทั้งนี้ ตามที่มีช้างปรากฏอาการและบาดแผลที่เป็นผลมาจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร ยังผลให้มีการเคลื่อนย้ายช้างมารักษาที่จังหวัดลำปางจำนวน 5 เชือก ในช่วงวันที่ 5 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ผลการรักษาผ่านมา 3 วัน พบว่า ช้างทั้ง 5 เชือกมีอาการดีขึ้นตามลำดับแล้ว

นายสัตวแพทย์ ดร.ทวีโภค อังควาณิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้างฯ กล่าวว่า ช่วงแรกที่มาถึงโรงพยาบาลฯ ช้างทุกเชือกมีอาการซึมอย่างเห็นได้ชัด และไม่กินอาหาร ทางนายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้างลำปางฯ และศูนย์การวิจัยช้างและสัตว์ป่าฯ ได้ทำการรักษาช้างโดยการให้สารน้ำเพื่อขับสารพิษ ให้ยาลดการอักเสบ ยากดภูมิคุ้มกันและยาต้านอนุมูลอิสระในช้างทุกเชือก ตามแนวทางการรักษาช้างที่สัมผัสสารเคมีทางการเกษตรในกรณีที่แล้วมา

...

ภายหลังจากทำการรักษาพบว่า ช้างทุกเชือกมีการตอบสนองต่อการรักษาดี สามารถกินน้ำและอาหารได้ ขับถ่ายปกติ โดยเฉพาะพังโมพอนะที่มีอาการซึมลดลงจนสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์ได้วางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทำการติดตามผลการรักษาโดยการตรวจเลือดซ้ำเพื่อประเมินผลการรักษา และเพื่อประเมินผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตรข้างต้นที่อาจจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ของช้างเป็นระยะ

"ถ้าหากผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายช้าง คาดว่าช้างจะสามารถเดินทางกลับบ้านได้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์จากนี้ แต่อาจจะมีบางเชือกที่ยังคงต้องรักษาดูแลจนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ"

ขณะเดียวกัน สมาคมสหพันธ์ช้างไทยได้เผยแพร่ภาพพื้นที่ทางการเกษตรที่อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นภาพที่เพิ่งไปสำรวจเมื่อเดือนที่ผ่านมาพบว่า ที่พื้นที่การเกษตรหลายแห่งที่มีการทิ้งแกลลอนและบรรจุภัณฑ์ ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง รวมทั้งปุ๋ยเคมี และพบว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ยังมีสารเคมีเหลือค้างอยู่ จนเป็นสาเหตุให้ช้างกินเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อีกสาเหตุหนึ่งคือ ในปัจจุบันมีการผลิตสารเคมีที่ลดกลิ่นฉุนรุนแรงและแต่งกลิ่นให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น ทำให้ช้างที่แต่เดิมมีทักษะสัญชาตญาณที่รับรู้ถึงกลิ่นที่จะเป็นอันตราย ไม่สามารถแยกแยะกลิ่นได้ จนเป็นสาเหตุให้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีช้างในจังหวัดเชียงใหม่ละจังหวัดใกล้เคียงเผลอสัมผัสและกินสารเคมีเข้าไปในร่างกายจนล้มป่วย 13 เชือก

อย่างเช่นพังบัวบาน อายุ 8 ขวบ ที่ถูกส่งจาก อ.สะเมิง หลังกินสารเคมีเข้าไปจนเกิดแผลพุพองในช่องปาง และสารเคมีที่หยดลงไปบนเท้าหน้าด้ายซ้ายยังทำให้ผิวหนังไหม้ กลายเป็นแผล ล่าสุดแม้อาการจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานหลายเดือน หรือนานเป็นปีกว่าแผลจะหายดี

นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาถึงปัญหาการใช้สารเคมีในพื้นที่ป่าที่มีความเกี่ยวเนื่องทับซ้อนกับพื้นที่เลี้ยงช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ช้างตกงานพากันกลับบ้าน เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นอีก และหวังว่าช้าง 5 เชือกจาก อ.อมก๋อย จะเป็นชุดสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบ.