“เกษตรกรในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก ประชากรราว 630 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอีก้อและไทยใหญ่ ที่อพยพมาจากประเทศลาวและพม่า มีความเป็นอยู่ค่อนข้างแร้นแค้น เนื่องจากอยู่พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลแค่ 500 เมตร จึงปลูกพืชเมืองหนาวไม่ได้เหมือนพื้นที่อื่น ทางศูนย์ฯจึงเริ่มส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกดอกคาโมมายล์และดอกเก๊กฮวย เพื่อนำมาอบแห้งขาย จนปัจจุบันแค่ปีที่แล้วปีเดียวสร้างเม็ดเงินให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 5 ล้านบาท”

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) บอกถึงที่มาของเก๊กฮวยเปลี่ยนชีวิตชาวเขา...หลังจากศูนย์ฯได้ส่งเสริมการปลูกดอกคาโมมายล์และดอกเก๊กฮวยในปี 2551 จึงเกิดโครงการต่อเนื่องการพัฒนากระบวนการแปรรูปดอกคาโมมายล์และเก๊กฮวยอบแห้ง แต่โครงการระยะแรก กลับประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเตาอบแห้งของศูนย์ฯ มีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้การกระจายความร้อนในห้องอบแห้งไม่สม่ำเสมอ สภาพการใช้งานไม่ค่อยดีนัก และมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในการสร้างลมร้อนมาก

...

ปี 2562 สวก.จึงให้ทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภายใต้โจทย์การพัฒนากระบวนการแปรรูปชาดอกไม้อบแห้งที่มีประสิทธิภาพ จนได้เครื่องอบแห้งระบบถาดหมุนควบคุมแบบ multistage drying system controller (เลขที่อนุสิทธิบัตร 2003001545) ขึ้นมา โดยเครื่องสามารถกระจายความร้อนสูง และสามารถอบแห้งได้มากขึ้น มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยดอกเก๊กฮวยสด 7 กก. จะได้ดอกเก๊กฮวยอบแห้ง 1 กก. ส่วนดอกคาโมมายล์สด 6 กก. จะได้ดอกคาโมมายล์อบแห้ง 1 กก. ที่สำคัญลดอัตราการใช้พลังงานได้มากกว่า 120%

ส่งผลให้เกษตรกรเกิดความสนใจที่จะเข้ามาประกอบอาชีพเพาะปลูกชาดอกไม้ทั้ง 2 ชนิด ทำให้มีอัตราการขยายการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จากระยะเริ่มต้นโครงการมีเพียง 10 ครัวเรือนที่เข้าร่วม ปัจจุบันเพิ่มเป็น 250 ครัวเรือน โดยปีที่แล้วศูนย์ฯสามารถอบแห้งชาดอกไม้ได้รวม 85 ตันสด และมีรายได้กลับสู่เกษตรกรกว่า 5.85 ล้านบาท

หลังจากได้นำเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากวิจัยฯมาใช้จนได้เครื่องอบใหม่ เลยทำให้คาโมมายล์และเก๊กฮวยกลายเป็นพืชสมุนไพร ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ครอบครัวละ 40,000-50,000 ใน 1 ฤดูกาลผลิต (ระยะเวลาการเพาะปลูกถึงเก็บเกี่ยว 6 เดือน) ด้วยการผลิตที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนเพิ่มผลกำไรได้ จาก เดิมก่อนการทำวิจัยราคารับซื้อเมื่อปี 2555 รับซื้อเก๊กฮวยสด กก.ละ 20 บาท เพิ่มราคาเป็น กก.ละ 47 บาท และคาโมมายล์สดเดิมซื้อ กก.ละ 50-55 บาท มาเป็น 70 บาท ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

...

นานๆจะได้เห็นการนำงานวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ทำให้เกษตรกรรวมถึงชุมชนเกิดความเปลี่ยน แปลง มีรายได้ มีชีวิตความอยู่เป็นที่ดีขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพที่ยั่งยืน ยิ่งในภาวะที่เกิดการระบาดของโควิด-19 แรงงานหนุ่มสาวเกิดภาวะตกงาน หันกลับมาช่วยครอบครัวทำการเกษตร

เมื่อเกิดรายได้ที่มั่นคง สามารถเลี้ยงชีพได้ เรื่องคิดที่จะละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปอีก...ย่อมไม่เกิดขึ้น.

กรวัฒน์ วีนิล