"ธรรมนัส" ลงพื้นที่เชียงราย เปิดกิจกรรม Kick off สานพลังเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา "ร่วมใจไม่เผาฟาง สร้างเกษตรยั่งยืน" สร้างความตระหนักถึงพิษภัยหมอกควันไฟแก่ประชาชน และพี่น้องเกษตรกร
เมื่อวันที่ 16 พ.ย.63 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off สานพลังเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา "ร่วมใจไม่เผาฟาง สร้างเกษตรยั่งยืน" และร่วมในพิธีมอบ ส.ป.ก.4-01 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม
ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off สานพลังเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา "ร่วมใจไม่เผาฟาง สร้างเกษตรยั่งยืน" พร้อมมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ณ วัดปลงหลวง ต.เวียงชัย จ.เชียงราย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้มีการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชน และพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ลด ละ เลิก การเผาวัสดุทางการเกษตร พร้อมสร้างความตระหนักในเรื่องพิษภัยของหมอกควันไฟที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน ผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการทำลายหน้าดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
...
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังได้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร ได้ทราบถึงประโยชน์ของการไถกลบตอซังพืช และการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหมาะสม การจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ โดยการไถกลบตอซังพืช เพื่อป้องกันการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ที่จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเผาเพื่อเตรียมดินปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่
ทั้งนี้ภายในงานยังได้มีการสาธิตการไถกลบตอซัง การหว่านปอเทืองในพื้นที่ไถกลบตอซัง การทำปุ๋ยหมัก พด.1 และการผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.2 เพื่อใช้ในการย่อยสลายตอซัง และยังมีพิธีการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่พี่น้องเกษตรกร จำนวน 40 ราย โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย (ส.ป.ก.เชียงราย) มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน 921,138 ไร่ มีพื้นที่ดำเนินการ 17 อำเภอ 588,001 ไร่ และได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 70,738 ราย 102,846 แปลง เนื้อที่ 578,813 ไร่
จากนั้ย ร.อ.ธรรมนัส ได้เป็นประธานการประชุมสัมมนาเรื่อง การขับเคลื่อนระบบการผลิต การตลาด สินค้าลำไย พร้อมสนับสนุนนโยบายการประกันราคาลำไย โดยร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั้นคือการเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัลโควิด-19 ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาให้ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งมีผลไปในทิศทางที่ดี และจะช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
"ในวันนี้ทางเกษตรกรได้เสนอความต้องการในการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือทั้งระบบ ได้แก่ การผลิต การพัฒนาคุณภาพ การแปรรูป การตลาด การบริหารจัดการลำไย และผลิตภัณฑ์ทั้งระบบพร้อมสนับสนุนนโยบายการประกันรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย เช่นเดียวกับยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าว" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ทั้งนี้ จ.เชียงราย เป็นจังหวัดหนึ่งที่ปลูกลำไยเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ โดยมีพื้นที่ปลูก จำนวน 343,442 ไร่ โดยเฉพาะ อ.แม่สรวย เป็นแหล่งผลิตลำไย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นอันดับ 1 ของ จ.เชียงราย เป็นแหล่งผลิตลำไยคุณภาพ มีการรวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสภาอาชีพเกษตรกร อ.แม่สรวย มีสมาชิกจำนวน 5,148 ราย และภายในงานยังมีการมอบหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่เกษตรกร อ.แม่สรวย จำนวน 30 ราย.