"รมช.แรงงาน" เยือน จ.น่าน ติดตามผลการดำเนินงาน พร้อมดันแรงงานกลุ่มคนพิการให้ "มีอาชีพ-รายได้" มั่นคง สู่การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.63 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พร้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อติดตามความคืบหน้า และให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินงานการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของจังหวัดน่าน และร่วมกิจกรรมการจ่ายเงินโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยปี 2563 จังหวัดน่าน และโครงการประชาสัมพันธ์การผลิตลำไยคุณภาพของเกษตรกรชาวสวนลำไย ณ ห้องประชุมจังหวัดน่าน โดยมี นายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ หอประชุมจังหวัดน่าน
โดย นางนฤมล กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ซึ่งกระทรวงแรงงานและส่วนราชการต้องร่วมกันทำงาน เพื่อให้เกิดการจ้างงานหรือสามารถประกอบอาชีพอิสระ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีการประกอบอาชีพอิสระได้มากขึ้น ต้องอาศัยภาคีเครือข่ายในจังหวัดน่าน เช่น ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงแรงงานมีความร่วมมือกับภาคเอกชนหลายแห่ง ที่สามารถให้ความช่วยเหลือในการฝึกอบรมได้ เช่น โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ซึ่งเป็นการดำเนินงานรองรับสังคมผู้สูงอายุ จึงขอฝากจังหวัดน่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ และเร่งดำเนินการในส่วนนี้ด้วย การฝึกอบรมนั้นให้คัดเลือกผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นลำดับแรก เพื่อให้มีความรู้ สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น
...
โครงการที่จังหวัดน่านได้เสนอขอรับการสนับสนุน ภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อาทิ โครงการพัฒนาอัตลักษณ์น่านสู่เมืองสร้างสรรค์ โครงการยกระดับเศรษฐกิจน่านสู่นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ และโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชนและสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองอัจฉริยะ ส่วนมาตรการการฝึกอาชีพระยะสั้นที่จังหวัดดำเนินการ เช่น สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน (สนพ.น่าน) และพัฒนาชุมชนจังหวัด เข้ามาร่วมดำเนินการฝึก ในปี 64 สนพ.น่าน มีเป้าหมายฝึกอบรมให้แรงงาน เสนอโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิดฯ ผ่านหลักสูตรฝึกอบรม อาทิ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระยะเวลาการฝึก 5 วัน ให้ความช่วยเหลือคนพิการด้วยการสนับสนุนเงินอุดหนุนช่วยเหลือคนพิการอีกด้วย ด้านความช่วยเหลือการจ้างงาน รมช.แรงงาน ขอให้มีการจ้างงานกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ด้วย
หลังจากนั้น รมช.แรงงาน ได้เยี่ยมชมศูนย์ฝึกอาชีพแก่คนพิการจังหวัดน่าน ณ สมาคมคนพิการทุกประเภทจังหวัดน่าน เลขที่ 304 หมู่ 5 ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีสมาชิกกลุ่มประมาณ 200 คน โดยมี น.ส.ศิริลักษณ์ ธุรกิจเสรี เป็นนายกสมาคมคนพิการจังหวัดน่าน ในปี 2553 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการจ้างงานเร่งด่วน ของสำนักงานแรงงานจังหวัดน่าน บูรณาการร่วมกับ สนพ.น่าน จัดวิทยากรให้ความรู้การทำพรหมเช็ดเท้าและการตัดเย็บเสื้อผ้า พร้อมมอบจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของกลุ่มคนพิการด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้การสนับสนุนการฝึกอาชีพอย่างต่อเนื่อง เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฝึกทำเบเกอรี จัดหาตลาดเพื่อจำหน่ายตามร้านค้าในพื้นที่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและเทสโก้โลตัส สนับสนุนการฝึกอาชีพ สานตะกร้าหวายโดยใช้หวายแท้และหวายเทียม เย็บกระเป๋าลดโลกร้อน เย็บหมวก และรับซื้อสินค้าไปวางจำหน่ายอีกด้วย เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นรูปแบบของการจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ
รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การช่วยเหลือและดูแลคนพิการให้มีอาชีพ มีงานทำ เป็นอีกเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน ตามแนวคิด "สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ" และนโยบายของนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง ทั้งสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ให้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการมากกว่า 2 ล้านคน ในส่วนของจังหวัดน่าน มีคนพิการที่จดทะเบียนและมีบัตรประจำตัว พบว่า มีจำนวน 22,626 คน อยู่ในวัยแรงงาน 7,589 คน วัยเด็ก 876 คน และวัยชรา 14,057 คน ซึ่งได้มอบหมายให้จังหวัด และ สพร.น่าน สำรวจความต้องการเพื่อให้ความช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มช่องทางการจำหน่วยผลิตภัณฑ์ การให้ความรู้เรื่องการขายของออนไลน์
...
"คนพิการที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ยังต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและขับเคลื่อนการพัฒนาอาชีพแรงงานคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีรายได้อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายตรงกระทรวงแรงงาน 1506" รมช.แรงงาน กล่าว