รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี "อุ้มพระดำน้ำ" ผวจ.ร่วมกับเสนาบดี 4 ฝ่าย อุ้มองค์ "พระพุทธมหาธรรมราชาดำลงแม่ป่าสัก" ที่ท่าวัดโบสถ์ชนะมาร ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่เพชรบูรณ์  

เวลา 09.59 น.วันที่ 17 ก.ย.2563 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรมเป็นประธานในพิธีอุ้มพระดำน้ำหนึ่งเดียวในโลกที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ มีนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้ประกอบพิธีอุ้มองค์พระพุทธมหาธรรมราชาดำน้ำร่วมกับเสนาบดี 4 ฝ่าย

ประกอบด้วย นายปริญญา วิชาโคตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นฝ่ายกรมเวียง นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นฝ่ายกรมวัง นายชัยวัฒน์ ทองไหม สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นฝ่ายกรมคลัง นายยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นฝ่ายกรมนา นายพิชิฏฏ์ ชิดไพฑูรย์ ท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเทวดาที่ 1 ดร.ภูวนาท มูลเขียน ศึกษาธิการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเทวดาที่ 2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ สิทธิจันตา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเพชรบูรณ์ เป็นผู้ลั่นฆ้องชัย นายประดิษฐ์ เหมฤดี นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการเป็นผู้อ่านคำทำนาย นายไชยยงค์ ไชยปัน นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายรายการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้อ่านคำอธิษฐาน

...

ในการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำประจำปี 2563 นี้ เริ่มจากการหันหน้าไปทางทิศเหนือและนำองค์พระพุทธมหาธรรมราชาดำน้ำ 3 ครั้ง จากนั้นจึงดำน้ำทาง ทิศใต้อีก 3 ครั้ง เพื่อเป็นการขอพุทธคุณจากองค์พระพุทธมหาธรรมราชาช่วยปกปักษ์รักษาให้ประชาชนชาวเพชรบูรณ์ได้อาศัยอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ จากนั้น ผู้ที่ประกอบพิธีและร่วมขบวนพิธีได้นำเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยข้าวต้มมัด กระยาสารท และข้าวตอกดอกไม้ โยนจากในเรือขึ้นมาบนบกให้กับประชาชนที่มาร่วมในพิธีเพื่อนำไปรับประทานเป็นสิริมงคล

โดยในปีนี้มีกำหนดการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำหนึ่งเดียวในโลกระหว่างวันที่ 15-20 กันยายน ที่พุทธอุทยานเพชบุระ และจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการกว่าทุกๆ ปี โดยได้จัดให้มีมหรสพมากมายหลายอย่างทั้งดนตรี และการแสดงประวัติพระพุทธมหาธรรมราชาด้วยเครื่องแสดงแสงสีเสียงอย่างอลังการ การแข่งขันพายเรือทวนน้ำ เทศกาลอาหารสะอาดรสชาติอร่อย

สำหรับตำนานเล่าขานอันยาวนานถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพุทธมหาธรรมราชาที่เป็นศูนย์รวมแรงศรัทธาของประชาชนชาวเพชรบูรณ์ที่มีมาอย่างยาวนานนั้นคือ เมื่อประมาณ 500 ปีที่ผ่านมาเมื่อวันหนึ่งขณะที่กลุ่มชาวบ้านในอำเภอเมืองเพชรบูรณ์กลุ่มหนึ่ง ได้นำแหล่องเรือออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดที่ไม่สามารถหาปลาได้แม้แต่ตัวเดียว จึงไปนั่งปรับทุกข์ที่ริมตลิ่งของ “วังมะขามแฟบ” ที่อยู่ทางตอนเหนือของตัวเมืองเพชรบูรณ์ ฉับพลันสายน้ำที่ไหลเชี่ยวได้เกิดปรากฏการหยุดนิ่ง พร้อมกับได้บังเกิดมีพรายน้ำค่อยๆ ผุดขึ้นมา และกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ พร้อมกับมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอย ขึ้นมาเหนือผิวน้ำในลักษณะของการดำผุดดำว่ายสร้างความฉงนใจให้แก่ชาวบ้านกลุ่มนี้ ก่อนช่วยกันลงน้ำไปอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ และในปีถัดมาซึ่งตรงกับ “วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10” องค์พระพุทธรูปก็ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยแม้ชาวบ้านจะค้นหาก็ไม่พบเจอร่องรอย

กระทั่งต่อมามีผู้ไปพบพระพุทธรูปในลำน้ำป่าสักบริเวณที่พบพระพุทธรูปครั้งแรกในลักษณะเดิมคือดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้งพร้อมถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” โดย เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ในสมัยนั้นจะมีหน้าที่ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธี “อุ้มพระดำน้ำ” เป็นประจำทุกปี ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ณ บริเวณวังมะขามแฟบ จนเป็นประเพณีสืบทอดต่อเนื่องยาวนานกระทั่งถึงปัจจุบันยุคสมัยและการปกครองเปลี่ยนไปจึงให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เท่านั้นที่จะเป็นผู้อุ้มองค์พระพุทธมหาธรรมราชาประกอบพิธีดำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประเพณีนี้มีนัยสำคัญคือการเสี่ยงทางให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลพืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์บ้านเมืองสงบสุขและร่มเย็นประชาชนมีความสุข

...

ด้านนายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่าสำหรับการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ได้จัดให้มีการคัดกรองอย่างเข้มงวด ได้จัดให้มีการตรวจวัดไข้และให้ผู้ร่วมงานสวมใส่แมสก์กันทุกคน ทั้งนี้ได้จัดเตรียมแมสก์จำนวน 1 หมื่นชิ้นไว้สำหรับแจกให้กับประชาชนที่เข้ามาท่องเที่ยวที่ไม่ได้นำแมสมาด้วย พร้อมกำหนดมาตรการการเว้นระยะห่างเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้สอดรับกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์ให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน