การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด–19” สร้างความเสียหายกันถ้วนหน้า ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่น้อยไปกว่าสาขาอื่นๆ

ปางช้างแม่สา ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมีอายุยาวนานคู่เมืองเชียงใหม่มาถึง 44 ปี ได้รับผลกระทบจากวิกฤติไวรัสร้ายครั้งนี้เช่นกัน

ปางช้างแม่สา เปิดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาร่วม 44 ปี ต้องปิดชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส “โควิด-19” และต้องปรับรูปโฉมใหม่เพื่อรอวันเปิดอีกครั้ง.
ปางช้างแม่สา เปิดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาร่วม 44 ปี ต้องปิดชั่วคราวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัส “โควิด-19” และต้องปรับรูปโฉมใหม่เพื่อรอวันเปิดอีกครั้ง.

...

ปางช้างแห่งนี้มีช้างในความรับผิดชอบถึง 78 เชือก มีพนักงานที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในแต่ละแผนกอย่างครบถ้วนกว่า 200 คน

ขณะนี้ทั้งช้างและคนต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักหน่วง ส่งผลกระทบในทุกๆด้าน เนื่องจากรายได้มาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่มาวันนี้ไร้นักท่องเที่ยวทำให้ต้องปิดปางช้างชั่วคราว

ภาพในอดีต “วันช้างไทย” ที่ทาง ปางช้างแม่สา จ.เชียงใหม่ จัดยิ่งใหญ่ที่สุดมีสะโตกช้างเลี้ยงอาหารช้างกว่า 80 เชือก นักท่องเที่ยวแห่ชมอย่างเนืองแน่น.
ภาพในอดีต “วันช้างไทย” ที่ทาง ปางช้างแม่สา จ.เชียงใหม่ จัดยิ่งใหญ่ที่สุดมีสะโตกช้างเลี้ยงอาหารช้างกว่า 80 เชือก นักท่องเที่ยวแห่ชมอย่างเนืองแน่น.

รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ เพื่อให้ช้างและคนเลี้ยงช้างต้องอยู่ให้ได้ในวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ

“ผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลถึงจำนวนลูกค้าที่ลดลงเรื่อยๆ ความจริงเราติดลบมาตั้งแต่เดือน ก.พ.แล้ว การปิดปางช้างในครั้งนี้เป็นการปิดชั่วคราว”

เป็นคำกล่าวชนิดฝืนยิ้มแข็งใจสู้ของ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กก.ผจก.ใหญ่ปางช้างแม่สา ทายาทคนโตของ นายชูชาติ กัลมาพิจิตร พ่อเลี้ยงเจ้าของปางช้างแม่สา ผู้ล่วงลับ

นายชูชาติ กัลมาพิจิตร พ่อเลี้ยง “ปางช้างแม่สา” ผู้ก่อตั้งปางช้างในช่วงมีชีวิตอยู่ มีความผูกพันกับช้างเป็นอย่างมาก.
นายชูชาติ กัลมาพิจิตร พ่อเลี้ยง “ปางช้างแม่สา” ผู้ก่อตั้งปางช้างในช่วงมีชีวิตอยู่ มีความผูกพันกับช้างเป็นอย่างมาก.

...

นางอัญชลี เผยอีกว่า ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องสนองนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว จึงปิดปางช้างแม่สาชั่วคราวเมื่อวันที่ 23มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ความร่วมมือที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโควิด-19แพร่ระบาด
ในขณะเดียวกัน ได้ป้องกันพนักงานและคนเลี้ยงช้างของเราให้ปลอดจากโรคโควิด-19ด้วย

“ขณะนี้เรามีภาระที่หนักมาก เราพยายามที่สุดที่จะช่วยเหลือตัวเองมีความจริงใจ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เรามีรายได้เป็นศูนย์ เราต้องเอาเงินเก็บสะสมมาใช้ ถ้าโควิด-19 เรื้อรังเป็นปี เราจะต้องเผชิญกับความลำบากในการรักษามาตรฐานการเลี้ยงช้างของเรา ช้างแม่สาเป็นช้างคัดมีความสวยงาม ลักษณะดี สายพันธุ์ดีทุกเชือก ยังคงเป็นความหวังของวงการอนุรักษ์ช้างในประเทศไทยอยู่...

ขบวนการแสดงโชว์ช้างที่ยิ่งใหญ่ของปางช้างแม่สา หลังจากวิกฤติ “โควิด-19” ผ่านพ้นไปจะไม่มีการแสดงอีก เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่.
ขบวนการแสดงโชว์ช้างที่ยิ่งใหญ่ของปางช้างแม่สา หลังจากวิกฤติ “โควิด-19” ผ่านพ้นไปจะไม่มีการแสดงอีก เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่.

...

อีกทั้งยังคงเป็นลมหายใจด้านการท่องเที่ยวให้กับ จ.เชียงใหม่ได้อีกต่อไป อยู่ที่ว่าเราจะได้รับความช่วยเหลือ หรือยอมรับความช่วยเหลือได้มากน้อยขนาดไหน “ในฐานะผู้นำองค์กรต้องคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในทุกๆเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องการขอเงินอย่างเดียว”

นางอัญชลี กล่าวถึงการรักษาปางช้างและช้างไว้ และที่สำคัญคือต่อไปจะยกเลิก การแสดงและนั่งช้างบนแหย่ง รวมถึงการ ให้ช้างได้มีอิสรภาพ หลังจาก 40 กว่าปีผ่านไป

การโชว์ช้างอาบน้ำ ในลำห้วยแม่สาของปางช้างแม่สา เป็นส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมาก และเป็นความสุขของคนที่ได้มาอาบน้ำช้าง.
การโชว์ช้างอาบน้ำ ในลำห้วยแม่สาของปางช้างแม่สา เป็นส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมาก และเป็นความสุขของคนที่ได้มาอาบน้ำช้าง.

...

ส่วนจะมีปัจจัยนั้นได้คิดจะเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เมื่อโดนโจมตีเรื่องเนิร์สเซอรีช้างน้อยของปางช้างแม่สาจากสื่ออังกฤษ จึงได้ตัดสินใจตอบคำถามในครั้งนั้นว่า

“เราจะเปลี่ยนแปลงโดยจะยกเลิกการฝึกช้างแสดงและการนั่งช้าง และเราต้องการปิดเนิร์สเซอรีช้างน้อย ขอยุติคำว่าเนิร์สเซอรีด้วย เนื่องจากสื่อใช้คำว่าเนิร์สเซอรีจากนรก”

โดยทิศทางที่เปลี่ยนแปลงต้องสามารถสร้างสิ่งอื่นขึ้นมาทดแทน และจากการศึกษาพบว่าโปรแกรมหรือกิจกรรมของช้าง คนในสมัยปัจจุบันนิยมคือการมาช่วยเลี้ยงช้างหรือเซอร์วิสช้าง ช่วยเหลือช้างโดยให้ช้างได้อยู่แบบที่ช้างเป็น คือเป็นธรรมชาติ คิดว่ามันง่ายมาก หากจะให้ทำแบบนั้น คนสบาย ช้างสบาย แล้วทำไมจะไม่ทำล่ะ

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กก.ผจก.ใหญ่ปางช้างแม่สา ยืนยิ้มท่ามกลางสู้พิษไวรัสโควิด-19 ต้องปิดปางช้างชั่วคราว ดิ้นสู้ทั้งคนและช้างให้อยู่รอด.
นางอัญชลี กัลมาพิจิตร กก.ผจก.ใหญ่ปางช้างแม่สา ยืนยิ้มท่ามกลางสู้พิษไวรัสโควิด-19 ต้องปิดปางช้างชั่วคราว ดิ้นสู้ทั้งคนและช้างให้อยู่รอด.

โปรแกรมนั่นคือ การเปิดรับอาสาสมัครจากทั่วโลกได้มีโอกาสมาช่วยงานทุกอย่างของการเลี้ยงดูช้าง โดยจะต้องจ่ายค่ากิน ค่าที่พัก ค่าผู้ดูแลกับทางปางช้าง จึงไปเริ่มต้นศึกษาดูงาน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคุณเล็ก (นางแสงเดือน ชัยเลิศ) ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และเป็นเจ้าของ Elephant Nature Parkที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกไปแล้ว

เมื่อได้คุยกัน นางแสงเดือน เห็นดีด้วยทุกอย่าง เตรียมเปิด “เดอะช้าง” เชียงใหม่ขึ้นโดยมีคอนเซปต์ว่า The Chang Community & Volunteers Program จะเกิดขึ้นที่ใกล้ๆกับปางช้างแม่สา ในส่วนนี้จะเป็นดินแดนของช้างปลดโซ่ทั้งหมด เลยไปจนถึงส่วนเนิร์สเซอรีที่ปิดตัวลงไปแล้วในพื้นที่ของปางช้างแม่สาเดิม ที่ตั้งของปางช้างแม่สา จะถูกปรับใหม่ให้กลายเป็น “ศูนย์อนุรักษ์ช้างของปางช้างแม่สา”

ช้างแสนรู้ของปางช้างแม่สาต้องออกหากินเอง ทั้งคนและช้างภายในปางช้างแม่สา ต่างดิ้นรนยืนสู้เพื่อความอยู่รอดไปวันๆ หลังปางช้างประสบปัญหาอย่างหนักจากพิษ “โควิด-19”.
ช้างแสนรู้ของปางช้างแม่สาต้องออกหากินเอง ทั้งคนและช้างภายในปางช้างแม่สา ต่างดิ้นรนยืนสู้เพื่อความอยู่รอดไปวันๆ หลังปางช้างประสบปัญหาอย่างหนักจากพิษ “โควิด-19”.

จะมีโรงพยาบาลช้าง โรงเรียนฝึกควาญช้าง (ป้องกันไม่ให้อาชีพนี้สูญหายไป) และยังจะมีหอนิทรรศการต่างๆ ห้องจัดแสดง ศูนย์การเรียนรู้และมูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทย ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องไว้แล้ว บริการประชาชนทั่วไป โดยไม่มีค่าเข้าชม

“เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตช้างได้อย่างง่ายขึ้น โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาเราหวังว่าเราและทีมงานจะทำงานนี้ได้สำเร็จ หลังจากที่ไวรัสโควิด-19 จบสิ้นไป และเราได้เริ่มต้นชีวิตใหม่” นางอัญชลี กล่าวอย่างมุ่งมั่น
สถานการณ์วันนี้ยังไม่ดีขึ้น และยังมองไม่เห็นว่าจะดีขึ้นกลับสู่ปกติเมื่อไร แต่ถ้าชาวไทยทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน เชื่อว่าจะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว.


ชัยพินธ์ ขัติยะ รายงาน