รมว.พาณิชย์ ยกขบวนลงพื้นที่ จ.สุโขทัย ติดตามโครงการประกันรายได้ ช่วยเหลือเกษตรกร พอใจโครงการได้ตรงจุด ชาวบ้านเฮ รับส่วนต่างกว่า 55,000 ราย
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามความก้าวหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร รับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของนายก อบต. กํานัน และผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเกษตรกร จ.สุโขทัย และภาคเหนือในบริเวณใกล้เคียง โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) กระทรวงเกษตรฯ เกษตรกร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเข้าร่วมกว่า 2,000 คน
โดย นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้ถือเป็นนโยบายที่สำคัญนโยบายหนึ่งของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการประกันรายได้ไม่ใช่การประกันราคา เพราะราคาประกันไม่ได้ ประกันได้เฉพาะรายได้ที่ราคาประกันไม่ได้ เพราะพืชผลทางการเกษตรเราไม่สามารถประกันราคาได้ว่า ราคาต้องกิโลกรัมละเท่าไหร่ เพราะราคาจะขึ้นอยู่กับกลไกการตลาด เมื่อใดที่พืชผลทางการเกษตรตัวนั้นออกมากจนล้น แต่คนซื้อไม่มีหรือมีน้อยราคาก็จะตกต่ำ แต่เมื่อไหร่ของมีน้อยแต่คนต้องการซื้อมากราคาก็จะสูง นี่คือกลไกตลาดที่ขึ้นอยู่กับดีมานด์ซัพพลาย ไม่มีใครไปสั่งให้ขึ้นลงได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลสามารถสั่งได้ คือ ให้เกษตรกรมีรายได้ตามปริมาณที่รัฐบาลเห็นว่าพอสมควร เรียกว่าการประกันรายได้
สำหรับ จ.สุโขทัย มีเกษตรกรรับส่วนต่างกว่า 55,000 ราย และมีการประกันรายได้ในข้าว 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,000 บาท ถ้าราคาตลาดน้อยกว่านี้ก็จะมีส่วนต่าง โดยรัฐบาลจะช่วยโอนให้เข้าบัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรง นี่คือข้อดีของนโยบายประกันรายได้ ช่วยให้มีหลักประกันไม่ว่าราคาจะตกลงมาอย่างไรก็มีส่วนต่างช่วย แต่ถ้าราคาดีจนเกินราคาที่ประกัน ก็จะไม่มีเงินประกันรายได้ แต่ก่อนที่จะมีนโยบายประกันรายได้จะมีเงินก้อนเดียว คือ เงินที่ขายข้าวในราคาตลาด เกวียนละ 7,000 บาท ก็ได้เพียง 7,000 บาท แต่เมื่อมีประกันรายได้จะมีรายได้สองกระเป๋ากระเป๋าซ้าย 7,000 บาท และกระเป๋าขวา 3,000 บาท รวมกันเป็น 10,000 บาท รวมกันเป็นรายได้ที่ประกันโดยประมาณ
...
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลชุดนี้จึงกำหนดเป็นนโยบายช่วยให้พี่น้องมีหลักประกันมากขึ้น แม้ยามที่ราคาพืชผลการเกษตรจะตกต่ำ ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท ราคาลงมาเป็น 13,000 บาท ก็จะได้รับเงินส่วนต่าง 2,000 บาทเป็นต้น นี่คือข้อดีของประกันรายได้ ได้เงินส่วนต่างชดเชย เงินส่วนต่างงวดแรกของการประกันรายได้ของรัฐบาล มีเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ทยอยจ่ายทุกสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับเวลาเก็บเกี่ยวของแต่ละคนว่า เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ก็มาแจ้งล่วงหน้าไว้กับ ธ.ก.ส. และเอาราคาวันนั้นมาดูว่า ส่วนต่างเท่าไหร่และโอนเงินเข้าบัญชีพี่น้องโดยตรง ตนเชื่อว่าพี่น้องที่นี่คงได้เงินมาพอสมควรแล้ว
นโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายของรัฐบาลทั้งรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่นำเสนอเบื้องต้นโดยพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนร่วมรัฐบาลก็ตามแต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยอมรับเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว และได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว แปลว่าเป็นข้อผูกพันและข้อผูกมัดที่รัฐบาลมีต่อรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จนกว่าจะสิ้นอายุขัยของรัฐบาล ตราบเท่าที่ยังมีนโยบายชุดนี้บริหารราชการแผ่นดิน นโยบายประกันรายได้เกษตรกรก็จะต้องดำเนินต่อไป และสำหรับมันสำปะหลังไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน สำหรับข้าวโพดรายละไม่เกิน 30 ตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการติดตามนโยบายครั้งนี้เป็นไปด้วยความคึกคัก เนื่องจากประชาชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนสอบถามพร้อมทั้งร้องเรียนร้องทุกข์ถึงอุปสรรคปัญหาบางส่วน แต่ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ก็ได้มอบหมายให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องรับเรื่อง และให้ดูแลประชาชนพร้อมกับให้แก้ไขทันที โดยเฉพาะประชาชนที่ตกหล่นเกี่ยวกับการขึ้นบัญชีเกษตรกร ได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ตรวจสอบพร้อมรายงานให้ทราบ