"องคมนตรี" พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.ตาก ติดตามโครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมเชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ราษฎร-ผู้ปฏิบัติงาน เยี่ยมดูชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านในพื้นที่
เมื่อวันที่ 1 มี.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อหลายวันที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา ได้เดินทางไปยังโครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ตำบลแม่ตื่น และตำบลสามหมื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ณ ที่ทำการโครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ สถานีโกวิท ปัญญาตรง 1 (บ้านแสมไทย) ในการนี้องคมนตรีได้เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการ ฯ จำนวน 250 ชุด พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากหน่ายงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้องคมนตรีได้เยี่ยมชมกิจกรรมภายในสถานี อาทิ การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่พระราชทาน การสาธิตทำอาหารไก่ไข่สูตรลดต้นทุน ชมผลผลิตจากโครงการปลูกป่าสร้างรายได้ อาทิ บุกไข่ กล้วย ฟักทอง จากนั้นชมกิจกรรมของกลุ่มแม่บ้านทอผ้าแสมไทย อาทิ ผ้าซิ่น ย่าม เสื้อ ชุด โดยกลุ่มนำผลิตภัณฑ์ ไปขายในตลาดทั่วไป เป็นรายได้เสริมสามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มอย่างต่อเนื่อง
โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของเขื่อนภูมิพล รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการ 4 สถานี ประกอบด้วย 1) สถานี สหัส บุญญาวิวัฒน์ 1 (บ้านห้วยน้ำเย็น) 2) สถานี สหัส บุญญาวิวัฒน์ 2 (บ้านทีนามู) 3) สถานี โกวิท ปัญญาตรง 1 (บ้านแสมไทย) 4) สถานี โกวิท ปัญญาตรง 2 (บ้านละเผ่ใหม่) มีประชากรอาศัยทำกินในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 3,113 คน 703 ครัวเรือน
...
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการโดยมีสำนักงาน กปร. ให้การสนับสนุนและประสานงานการดำเนินงาน โดยการป้องกันรักษาป่า มีการจัดตั้งจุดสกัดทางบกและจุดสกัดทางน้ำ ส่งผลให้สามารถคืนผืนป่าได้ถึง 88 แปลง เนื้อที่ 562.80 ไร่ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เน้นการคัดเลือกชนิดไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น และไม้ที่ใช้ใบ ดอก และผล เพื่อเป็นอาหารของคนหรือสัตว์ รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นและสมบูรณ์ของผืนป่า รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการส่งเสริมให้ราษฎรรวมกลุ่มในการปลูกบุกไข่ เพื่อลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดียว พร้อมปลูกพืชหลายชั้นเรือนยอด รวม 259 ไร่ โดยในปี 2562 สามารถเก็บผลผลิตหัวบุกไข่สดได้ประมาณ 13.25 ตัน ราษฎรมีรายได้กว่า 325,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ปลูกกาแฟแบบอินทรีย์ภายใต้ผืนป่าธรรมชาติที่เหมาะกับพื้นที่ที่มีความสูงมากกว่า 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ปลูกกาแฟแบบอินทรีย์ พื้นที่ปลูกรวม 216 ไร่ ผลผลิตที่ได้ในปี 2562 ประมาณ 1,200 กิโลกรัม ราษฎรมีรายได้กว่า 156,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกไผ่และแปรรูปหน่อไม้ ส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง และไก่ไข่พระราชทานที่ได้รับพระราชทานพันธุ์ไก่จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ราษฎรมีแหล่งอาหารโปรตีนไว้บริโภค และเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับราษฎรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งได้น้อมนำแนวพระราชดำริ การปลูกป่าสร้างรายได้ การปลูกป่าในใจคน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากผืนป่าได้อย่างยั่งยืนมาดำเนินการ
ด้าน นายทวีวรรธน์ แดงมณี นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าโครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานีสหัส บุญญาภิวัฒน์ 1 กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของสถานีมี 3 ด้าน คือ เพื่ออนุรักษ์และป้องกันรักษาป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้สามารถอยู่อย่างเกื้อกูลกัน ในการดำเนินงานมีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ งานด้านป้องกัน มีการตั้งจุดสกัดมีการใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การจัดระเบียบกับชุมชน โดยมี 3,000 ครัวเรือน พื้นที่ทำกินประมาณ 12,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่โครงการฯ มีการควบคุมป้องกันไม่ให้ชาวบ้านขยายพื้นที่ทำกิน ส่วนงานฟื้นฟูธรรมชาติมีการปลูกป่าประมาณ 4,000 ไร่ มีการทำฝายถาวร การเพาะชำกล้าไม้ ควบคู่กับการปลูกจิตสำนึกของชาวบ้านในการรักและหวงแหนพื้นที่ป่า มีการปล่อยสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติ ซึ่งจัดทุกปีโดยแต่ละสถานีจะร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการตั้งกลุ่มปลูกกาแฟ การตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ปลูกบุกไข่ร่วมกับไม้ยืนต้น ที่ผ่านมา โครงการสามารถดำเนินการได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ทำให้ชาวบ้านอยู่คู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน
...
"ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการฟื้นฟูป่าทุกคนรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และตรงไหนเป็นพื้นที่ทำกิน ก็จะให้ความร่วมมือดี มีการร่วมกันทำแนวป้องกันไฟป่ารอบหมู่บ้าน หากตรงไหนมีไฟป่าจะมีทีมจิตอาสาขึ้นไปช่วยกันดับไฟ โดยแต่ละสถานีจะมีชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทำงานร่วมกัน" นายทวีวรรธน์ กล่าว
ด้าน นายคำสุข อุปะนัน เกษตรกรหมู่บ้านแสมไทย กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมโครงการปลูกบุกเสริมรายได้ และปลูกขมิ้นชันในพื้นที่ที่ทางโครงการจัดสรรให้ โดยรวมกลุ่มกันเป็นสมาชิกผู้ปลูกบุก ผลผลิตจะมีโรงงานที่อำเภอแม่ระมาดมารับซื้อถึงพื้นที่ ปีที่ผ่านมาสองหมู่บ้าน ได้ผลผลิตรวมประมาณ 2 ตัน ขายกิโลกรัมละ 18 ถึง 20 บาท รวมรายได้ทั้งกลุ่มประมาณ 100,000 บาท การปลูกบุกนอกจากจะเป็นการสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่แล้ว ก็ไม่ต้องเสียเวลาดูแลเพราะบุกจะขึ้นเองโดยธรรมชาติไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง เมื่อถึงเวลาเก็บขายได้เลย ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เนื่องจากเป็นส่วนประกอบในการทำผลิตภัณ์ฑ์ต่างๆ อาทิ แป้งทำครีม และสมุนไพรลดความอ้วน นอกจากนี้ยังปลูก พืชผักสวนครัว อาทิ ผักกาด มะเขือ ข้าวไร่ไว้กินในครอบครัว และเลี้ยงไก่ ทำให้มีรายได้ทั้งปี ชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าเมื่อก่อน
"ได้เข้าร่วมกิจกรรมในการฟื้นฟูป่า ด้วยการปลูกป่าทดแทน โดยปลูก หวาย สักและต้นยางนา เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ โดยร่วมกันปลูกในยามว่าง หรือในช่วงวันพิเศษต่างๆ เมื่อต้นไม้เหล่านี้เติบโตสมบูรณ์อนาคตลูกหลานก็จะได้พึ่งพิงป่าเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และตอนนี้น้ำในลำธารก็มีไม่ขาดรู้สึกดีใจมากที่พระองค์ท่านช่วยเหลือทำให้ทุกคนมีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก" นายคำสุข อุปะนัน กล่าว
...
ด้าน นายสะที เสียงก้องภูผา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านห้วยวัว เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้อยู่ในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้บ้านห้วยวัว เมื่อก่อนชีวิตความเป็นอยู่ลำบากมาก อาชีพทำไร่ทำนา และเข้าป่าหาของป่าขายมาตอนนี้ทางโครงการได้สนับสนุนให้เลี้ยงไก่ทั้งไก่ไข่และไก่เนื้อ โดยรวมกลุ่มกัน ทำให้มีไข่ไก่ขายมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต้องเข้าป่าเหมือนเมื่อก่อน
"รู้สึกดีใจที่พระองค์ท่านไม่ทอดทิ้งประชาชนในพื้นที่ตรงนี้แม้จะอยู่ในป่าท่านก็ยังห่วงใย ยังให้ท่านองคมนตรีเดินทางมาเยี่ยมและมอบของให้รู้สึกปลาบปลื้ม และจะช่วยกันดูแลป่าให้สมบูรณ์ต่อไปและให้มากขึ้น เพราะถ้าป่าสมบูรณ์การทำมาหากินก็สมบูรณ์รายได้ดีขึ้น" นายสะที กล่าว