รองผวจ.แจง เร่งหาสาเหตุ คุมเข้ม ‘8อำเภอ’

รองผู้ว่าฯเชียงรายยันพื้นที่ประเทศไทยยังไม่พบ เชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู ส่วนการตายของหมูในพื้นที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อตัวดังกล่าว แต่เพื่อเป็นการป้องกันให้ทุกพื้นที่เข้มงวด หากพบสุกรมีอาการคล้ายโรคดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะไปรับซื้อหมูเพื่อนำไปฝังทำลายทิ้งทันที ที่ผ่านมาฆ่าฝังกลบไปแล้วกว่า 200 ตัว

กรณีมีกระแสข่าวในโลกโซเชียลระบุเกิดโรคระบาดในสุกรและล้มตายจำนวนมากในฟาร์มหมู หมู่ 9 บ้านสันธาตุ ต.แม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงรายและที่บ้านใหม่พัฒนา ต.ป่าซาง อ.แม่จัน เบื้องต้นสงสัยว่าอาจติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาหรือ ASF (Africa Swine Fever) ซึ่งได้แพร่ระบาดไปหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย หลังจากเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้ระบาดที่ฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มีการทิ้งหมูตายลงแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมาโดยหมูที่ตายทั้งสองฟาร์มได้ฝังกลบกว่า 200 ตัวนั้น

ต่อมาวันที่ 17 ก.ย. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการปศุสัตว์ทุกจังหวัด ภาคเอกชน โดยความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเกษตรกรทุกพื้นที่ดำเนินมาตรการป้องกัน ASF เข้มข้นต่อเนื่อง พร้อมเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรที่มีลักษณะอาการคล้ายเป็นโรคดังกล่าว ทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จะรับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยงในรัศมีใกล้เคียง เพื่อนำไปฝังทำลายพร้อมจ่ายค่าชดเชยซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันโรคตามปกติ แม้หมูจะยังไม่มีอาการป่วยตาย ทั้งนี้เพื่อตีกรอบความเสี่ยงให้อยู่ในวงจำกัด ขอย้ำว่า ASF ไม่ติดต่อสู่คนและโรคดังกล่าวยังไม่เกิดในไทยอย่างแน่นอน ฉะนั้นผู้บริโภคไม่ต้องกังวล สามารถบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติ และปลอดภัย

...

“กรณีที่พบสุกรป่วยตายเพียงไม่กี่ตัว และมีการซื้อสุกรของเกษตรกรรายย่อยเพื่อนำไปทำลายในรัศมีใกล้เคียงทั้งที่สุกรยังไม่มีอาการป่วยนั้น เป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันการระบาดของโรคที่ได้เตรียมการวางแผนไว้อยู่แล้ว ขอประชาชนอย่ากังวล ส่วนเกษตรกรทั่วทุกจังหวัดที่อยู่ในเขตเฝ้าระวัง ได้ผ่านการเข้าอบรมการป้องกันโรคและวิธีการรับมือครบแล้วทั้ง 100% ทำให้มีการแจ้งเตือนไปยังปศุสัตว์จังหวัดได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปควบคุมเฝ้าระวังได้ทันที ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้อง” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว

สำหรับการจัดเตรียมค่าชดเชยในการทำลายสุกรนั้น กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เกษตรกรจึงไม่ต้องกังวล และหากใครพบการป่วยตายของสุกร ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอให้เร็วที่สุด หรือแจ้ง อสม. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โดยทันที เพื่อการเข้าไปกำจัดและเฝ้าระวังไม่ให้มีความเสี่ยงกระจายออกไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกคน

ด้านนายนพพร มหากันธา ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า “ผลตรวจที่บ้านใหม่พัฒนา ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่พบว่ามีหมูป่วยตาย โดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อเป็นการป้องกัน ทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จึงได้ฉีดยาฆ่าหมูรวมแล้วกว่า 200 ตัว แล้วนำไปทำลายด้วยการฝังกลบ พร้อมกันนี้ยังได้เก็บตัวอย่างส่งไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุที่ศูนย์ วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง เพื่อนำชิ้นเนื้อตัวอย่างไปเพาะเชื้อตามหลักวิชาการ ซึ่งใช้เวลา 14 วัน จึงทราบผล “เบื้องต้นจากการสังเกตหมูส่วนใหญ่มีลักษณะอาการซึม ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่เกษตรกรซื้อยาแล้วนำไปรักษาหมูที่มีอาการเซื่องซึมโดยใช้ยาไม่ตรงกับโรคทำให้ไม่สามารถรักษาสุกรที่ป่วย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย เจ้าหน้าจึงได้เก็บตัวอย่างไปตรวจตามหลักการ พร้อมทั้งทำลายหมูในรัศมี 5 กม. ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกันกับการป้องกันการระบาดโรคในสัตว์ปีก รวมทั้งสัตว์เคี้ยวเอื้อง” นายนพพรกล่าว

ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันเบื้องต้นในพื้นที่ ขณะนี้ทีมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ออกให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านแบบเคาะประตูพร้อมทั้งตั้งด่านย่อยในพื้นที่ เป็นการเฝ้าบ้านตัวเอง ไม่ให้มีการลักลอบนำสัตว์ป่วยไปแปรรูปหรือถ้ามีสัตว์ป่วยจะได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนค่าชดเชยหลังเจรจากับเกษตรกร ได้ข้อสรุปว่าจะตีมูลค่าความเสียหายเป็นรายตัวสุกรโดยประเมินตามราคาตลาด แบ่งเป็นหมูแม่พันธุ์ หมูตั้งท้อง หมูสาวซึ่งจะพิจารณาเป็นบุคคล รายไหนที่เอกสารครบใช้เวลาเพียง 1-2 วัน วงเงินจะโอนเข้าบัญชีโดยตรงซึ่งเป็นเงินที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ

ส่วนนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รอง ผวจ.เชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้ยืนยันประเทศไทยยังไม่พบว่ามีหมูติดเชื้อโรค ASF มาตรการทำลายหมูในพื้นที่เสี่ยงเป็นมาตรการป้องไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่เสี่ยง 5 อำเภอคือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.แม่จัน อ.เวียงแก่น และ อ.เทิง แต่ขยายวงกว้างป้องกันอีก 3 อำเภอที่เป็นเขตชายแดนที่ติดกัน คือ อ.เชียงของ อ.แม่ฟ้าหลวง และอ.เวียงเชียงรุ้ง ที่ยังไม่มีการล้มป่วยของหมูโดยจะเข้มงวดชายแดนทั้งหมดที่มีการระบาดของโรค พร้อมกับตั้งด่านตรวจการเคลื่อนย้ายสัตว์ “ขณะนี้หากมีหมู ในเล้าว่าล้มป่วยหรือตาย เราจำเป็นต้องกำจัดเพื่อสกัดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด แต่ยังไม่ได้รับแจ้งจากกรมปศุสัตว์ว่าหมูในเล้าที่มีการทำลายติดโรค ASF แต่ในส่วนจังหวัดเชียงรายได้ดำเนินการสกัดกั้นอย่างเข้มข้น”

...

ด้านนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯกล่าวถึงข้อกังวลโรคอหิวาต์ในหมูว่ามีการป้องกันมาตลอดและมั่นใจว่าป้องกันได้โรคอหิวาต์ในหมูยังไม่มีวัคซีนฆ่าเชื้อจึงต้องประกาศห้ามนำหมูข้ามเขตและจากการลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายต้องชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตั้งด่านสกัดการนำหมูข้ามเขตเป็นร้อยด่านจึงอยากขอความร่วมมือจากบรรดาสมาคมผู้ประกอบการผู้ค้าหมูมีส่วนร่วมช่วยกันป้องกันไม่ให้มีการนำหมูข้ามเขตและขอให้ช่วยรับซื้อลูกหมูซื้อหมูที่เชือดได้แล้วมาชำแหละแทนส่วนกรณีหมูตามพื้นที่ชายแดนได้ขอความร่วมมือจากพ่อค้าช่วยรับซื้อหมูมาเพื่อเชือดทำลายแทนจะได้หมดข้อกังขา ทั้งนี้ ยอมรับว่ากังวลการนำเข้าหมูจากประเทศ สปป.ลาวจึงสั่งการให้กรมปศุสัตว์ฉีดยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันและตรวจสอบการนำเข้าเพื่อลดปริมาณการเคลื่อนย้ายหมูจากลาวเข้ามาในไทย ส่วนกรณีที่มีภาพปรากฏหมูลอยตายน้ำ ตนเป็นคนถ่ายภาพดังกล่าวเองและยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไรต้องตรวจสอบ