(ภาพ : สาวๆชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) กำลังทอผ้ากี่เอว ซึ่งต้องใช้ความละเอียดและอดทนมาก เนื่องจากต้องนั่งทอตลอดทั้งวัน กว่าจะได้ผ้าสวยงาม)

ในพื้นที่จังหวัดตากมีชนเผ่าอาศัยอยู่จำนวน 6 เผ่าหลักคือ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ม้ง มูเซอ อีก้อ ลีซอ และเย้า โดยเฉพาะปกาเกอะญอ จะมีประชากรมากที่สุดกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ คือ การทอผ้าด้วยมือ

ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทำให้ผ้าทอมือของชาวปกาเกอะญอกลายเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สนง.ตาก ได้นำยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สนง.ตาก.
นายจริยาทร สูหู่ ผอ.ททท.สนง.ตาก.

เปิดมุมมองใหม่ให้กับชีวิตจากการสัมผัสเสน่ห์วิถีไทยเฉพาะถิ่น จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มผ้าทอมือ 3 อัตลักษณ์ 3 อำเภอ อยู่ใน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละชนเผ่าแต่ละแบบ โดยร่วมกับ นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด

...

หากใครได้มา จ.ตาก จะต้องหลงเสน่ห์ผ้าถิ่น ชาว ปกาเกอะญอ กลุ่ม ผ้าทอมือนิเกะ บ้อโซ่โอ๊ะโอ หมู่ 2 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ มีประชากรจำนวน 462 ครอบครัว เป็นชาวปกาเกอะญอทั้งหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทอผ้า

ยามว่างสตรีชาวปกาเกอะญอ จะมานั่งทอผ้าร่วมกันในหมู่บ้าน เพื่อสืบสานการทอผ้าพื้นเมืองชั้นดี และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว.
ยามว่างสตรีชาวปกาเกอะญอ จะมานั่งทอผ้าร่วมกันในหมู่บ้าน เพื่อสืบสานการทอผ้าพื้นเมืองชั้นดี และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว.

เป็นหมู่บ้านนำร่องทอผ้าด้วยกี่เอว ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สวยงาม ที่ชาวปกาเกอะญอ นิยมใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอมือมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งชาวปกาเกอะญอจะปลูกฝ้ายเอง นำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย ย้อมด้วยสีธรรมชาติ สร้างลวดลายด้วยการทอ การปักด้วยเส้นไหม

สตรีชาวปกาเกอะญอจะถ่ายทอดภูมิปัญญากระบวนการผลิตผ้าทอ แก่บุตรสาว 12-15 ปี เริ่มจากแบบง่ายๆ ฝึกฝนจนมีความชำนาญ และสามารถออกแบบลวดลายด้วยตนเองได้

ชาวปกาเกอะญอสร้างสรรค์ลวดลาย สีสันของผ้าทอจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว จึงสวยงาม และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวปกาเกอะญอ มีลวดลายลักษณะเฉพาะ เป็นที่สะดุดตาแก่บุคคลภายนอก สนใจซื้อหาไปสวมใส่ และเป็นของฝาก

ทำให้สตรีชาวปกาเกอะญอนอกจากการทำไร่แล้วยังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ผ้าทอเพื่อการจำหน่าย ผ้าทอมือของชาวปกาเกอะญอ หรือที่คนเรียกติดปากว่า “ผ้าทอกะเหรี่ยง” สนนราคามีตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่นบาท

ผ้านิเกะ ผ้าราคาแพงของชาวปกาเกอะญอที่เลียนแบบไม่ได้.
ผ้านิเกะ ผ้าราคาแพงของชาวปกาเกอะญอที่เลียนแบบไม่ได้.

โดยเฉพาะ ผ้าทอมือนิเกะ เป็นผ้าทอที่มีเอกลักษณ์ลวดลายคดเคี้ยวเลี้ยวลดตามชื่อ ลายนิเกะ ที่ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้ มีราคาสูงถึงผืนละ 3,500-10,000 บาท เพราะการทอยากมาก ปีหนึ่งคนหนึ่งสามารถทอได้ 1-2 ผืนเท่านั้น

...

นอกจากนี้ที่ บ้านป่าไร่เหนือ ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด ชุมชนเล็กๆแค่ร้อยกว่าครัวเรือน พื้นที่ล้อมด้วยหุบเขากลิ่นอายของชนเผ่า วัฒนธรรม ประเพณี มีประชากรเป็นชาวปกาเกอะญอเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นอีกหมู่บ้านที่มีการทอผ้าด้วยกี่เอว ที่มีสีสันแปลกตา

มีการประยุกต์สีและแบบฉีกจากสิ่งเดิมๆมาเป็นผ้าทอมือร่วมสมัย ทำให้คนสนใจซื้อหาไปสวมใส่ เพราะนอกเหนือจากการทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

ผ้าทอของชนเผ่าถูกดัดแปลงดีไซน์ตัดเป็นเสื้อผ้าสมัยใหม่ สวยงามสุดๆ สวมใส่ได้ทั้งหนุ่มสาวและเด็ก.
ผ้าทอของชนเผ่าถูกดัดแปลงดีไซน์ตัดเป็นเสื้อผ้าสมัยใหม่ สวยงามสุดๆ สวมใส่ได้ทั้งหนุ่มสาวและเด็ก.

“ผ้าทอกะเหรี่ยง” ปัจจุบันได้รับความนิยมติดตลาดบนจากคนกรุงมากขึ้น เพราะมีการพัฒนารูปแบบให้เป็นที่ต้องการของตลาด

...

นับได้ว่า บ้านป่าไร่เหนือ ประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะผลิตไม่ทันความต้องการ เนื่องจากมีการพัฒนารูปแบบไปสู่สากลมากขึ้น ทำให้มียอดสั่งซื้อมากมาย ต้องสั่งจองข้ามปี

มีการขยายการตลาดสู่โซเชียลมีเดียโลกไร้พรมแดน สั่งทางอินเตอร์เน็ตโอนเงินปุ๊บส่งของปั๊บ ทำให้ขายยอดทะลุเป้า แต่ละเดือนยอดจำหน่ายหลายแสนบาท เฉพาะเดือนล่าสุดขายได้กว่า 900,000 บาท

แม่อุ๊ยบ้านโพธิ์ทอง ต.แม่กาษา อ.แม่สอด ที่ยังสืบสานการทอผ้าฝ้ายจากต้นฝ้ายที่ปลูกไว้ เพื่อรักษาผ้าทอชนเผ่าตกทอดสู่ลูกหลาน.
แม่อุ๊ยบ้านโพธิ์ทอง ต.แม่กาษา อ.แม่สอด ที่ยังสืบสานการทอผ้าฝ้ายจากต้นฝ้ายที่ปลูกไว้ เพื่อรักษาผ้าทอชนเผ่าตกทอดสู่ลูกหลาน.

อีกหนึ่งอำเภอที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือบ้านโพธิ์ทอง ต.แม่กาษา อ.แม่สอด แม้ว่าจะไม่ใช่ชาวปกาเกอะญอ แต่เป็น ชาวไทยล้านนา ที่บรรพบุรุษอพยพมาจากทางเหนือ อยู่ที่นี่หลายร้อยปีแล้ว ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการทอผ้าด้วยมือที่มีลวดลายโดดเด่น

...

โดยเฉพาะ ลายดอกแก้ว ที่ปัจจุบันกำลังใกล้สูญหายเพราะขาดคนสืบทอด เนื่องจากการทอการถักยากยิ่งกว่าสิ่งใด ต้องผ่านกรรมวิธีมากถึง 12 ขั้นตอนกว่าจะมาเป็นผ้าลายดอกแก้ว ทำให้เหลือผู้เฒ่าผู้แก่ อายุ 60-80 ปีที่ยังหวงแหนพยายามอนุรักษ์ไว้

นายจริยาทร กล่าวว่า ผ้าทอภูมิปัญญาของชาว ปกาเกอะญอ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของ จ.ตาก เริ่มมีคนนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอในหมู่บ้านบ้อโซ่โอ๊ะโอ หมู่ 2 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ อธิบายกรรมวิธีการทอ.
ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าทอในหมู่บ้านบ้อโซ่โอ๊ะโอ หมู่ 2 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ อธิบายกรรมวิธีการทอ.

ปัจจุบันมีการนำผ้าทอมือของชาวกะเหรี่ยงไปตัดเย็บเป็นเสื้อหรือกระโปรงร่วมสมัย นำไปเดินแฟชั่นโชว์ที่ไหนได้รับการตอบรับ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่ได้เห็น และมีการส่งขายไปต่างประเทศด้วย

“ในชุมชนโชคดีมีนักออกแบบที่เป็นคนรุ่นใหม่คิดค้นพัฒนาต่อยอดจนผ้าทอมือฝีมือชาวกะเหรี่ยงกลายเป็นอัตลักษณ์ที่จับต้องได้ เป็นของฝากก็ใช่ เป็นเครื่องแต่งกายก็ดูดี มีสีสวยสดงดงามและบ่งบอกถึงความเป็นไทย กลายเป็นแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่โด่งดังไปทั่วประเทศและต่างประเทศในเวลานี้” นายจริยาทร กล่าว

นับเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนเผ่าที่สืบทอดรักษากันมายาวนาน และสร้างมูลค่าในปัจจุบัน.

พิชิต พฤกษาโสภา