ส.ป.ก. สร้างจิตสำนึกและพัฒนาการเกษตรสืบสานพระราชปณิธาน ตามโครงการ Food Bank ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านวนเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมพัฒนาธนาคารอาหารชุมชน ตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน ณ พื้นที่โครงการเกษตรวิชญา ตามพระราชดำริ (ธนาคารอาหารชุมชน) บ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์บริเวณบ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้พระราชทานชื่อศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรบ้านกองแหะ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ว่า "เกษตรวิชญา" แปลว่า ปราชญ์แห่งการเกษตร

...

ต่อมากระทรวงเกษตรฯได้มอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. จำนวน 123 ไร่ เพื่อปลูกสร้างธนาคารอาหารชุมชน โดยการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติแบบชุมชนมีส่วนร่วม เป็นแหล่งรวบรวมและพัฒนาพืชสมุนไพรให้มีความหลากหลาย เป็นแหล่งผลิตอาหารตามธรรมชาติทั้งพืชผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร สัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาดูงาน

ซึ่งการดำเนินงานโครงการสืบสานพระราชปณิธานเป็นการพัฒนาพื้นที่ "เกษตรวิชญา" ตามพระราชดำริ (ธนาคารอาหารชุมชน) ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านวนเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำฐานการเรียนรู้รูปแบบห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการและปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยจัดแสดงทั้งบอร์ดองค์ความรู้และ QR Code เพื่อสืบค้นรายละเอียดเพิ่มเติม จำนวน 6 ฐาน ได้แก่

ฐานการเรียนรู้ที่ 1 รักษ์ไม้พื้นบ้าน สืบสานพระราชปณิธาน เป็นฐาน การเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา การปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูก การใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์ไม้ท้องถิ่น, ฐานการเรียนรู้ที่ 2 บริหารจัดการน้ำ ตามศาสตร์พระราชา เป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบประปาภูเขา,

ฐานการเรียนรู้ที่ 3 ต่อยอดพฤกษ์พนา คุณค่าพันธุ์ไผ่ เป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับ สายพันธุ์ไผ่และการใช้ประโยชน์จากไผ่, ฐานการเรียนรู้ที่ 4 สมุนไพรถิ่นไทย ประโยชน์มากหลากหลาย เป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร

ฐานการเรียนรู้ที่ 5 ชะลอน้ำด้วยฝาย สราญใจถ้วนทั่ว เป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ และวิธีการสร้างฝายชะลอน้ำแบบพื้นบ้าน (ฝายแม้ว) และฐานการเรียนรู้ที่ 6 ธนาคารพืชหัว คู่ครัววิถีไทย เป็นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพืชหัว และกิจกรรมจิตอาสา "เราทำความดี ด้วยหัวใจ" โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ประชาชนจิตอาสา และประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายจิตอาสาภาคประชาชนให้มีความภาคภูมิใจ มุ่งมั่นบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม.