ใครที่ได้ไปท่องเที่ยวภาคเหนือ มักจะได้กินอาหารที่มีรสชาติเผ็ดฉุน แสบลิ้น แต่หอม...นั่นเป็นผลผลิตจากต้นไม้ที่มีชื่อเรียกว่า มะแข่น เปรียบได้กับไปภาคใต้แล้วได้กินสะตอ อะไรเทือกนั้น

มะแข่น ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum limonella Alston ส่วนชื่อพื้นเมืองมีหลากหลาย ตั้งแต่ มะกรูดตาพราหมณ์ หมากมาศ, มะข่วง, มะแขว่น, หมักข่วง, มะแข่สะ เป็นพืชสมุนไพรสกุลเดียวกับพริกไทยเสฉวน

ผลมีรสชาติเผ็ด กลิ่นฉุน แต่หอม มีสรรพคุณทางยาใช้เป็นเครื่องเทศชูรสอาหาร ใช้ได้ทั้งผลสดและผลแห้ง แล้วแต่ชนิดอาหาร เช่น ลาบ หลู้ แกง อาหารท้องถิ่น เช่น ตำหวาย หลามบอน ตำน้ำพริก ฯลฯ

ต้นและกิ่งเป็นหนาม ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 6-8 คู่ ก้านใบสีแดง ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี ปลายแหลม ต้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้จะมีอายุตั้งแต่ 3-15 ปี ผลค่อนข้างกลมผลเล็กๆ ขนาดผลพริกไทย ผิวขรุขระ สีเขียว มีกลิ่นฉุน คล้ายกลิ่นเมล็ดผักชียี่หร่า ผลแก่เปลือกหุ้มเมล็ดสีแดง แก่จัดสีดำ

ออกผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม เมล็ดกลมๆ ดำเป็นมัน ใช้เปลือกผลผสมชูรสอาหาร ใช้รากและเนื้อไม้ เป็นยาขับลมในลำไส้ ลดความดัน เป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี ผลเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ

...

ปลูกมากที่สุด ต.ยอด อ.สองแคว จ.น่าน จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของพื้นที่

ช่วงปลายฝนต้นหนาว ราวๆปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นธันวาคมทุกปี ทางเทศบาลตำบลยอด

จะจัดงาน “วันมะแข่นหอมรสดี ชมวิถีชนเผ่า” มีการออกร้านแสดงสินค้าพื้นเมือง และสินค้าที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ชมการแห่ขบวนรถบุปผชาติ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประกวดธิดา มะแข่น

ถือว่าเป็นอีกงานประเพณีสำคัญ อยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวของน่าน.