อพท.จับมือ ทีต้า พัฒนา 4 เส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร ชูอัตลักษณ์อาหารถิ่น ที่มีเรื่องเล่าเป็นจุดขาย ดึงความสนใจนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ประเดิมจัดทริปนำผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ทดสอบเส้นทางก่อนนำเสนอขายจริง
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.62 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้ร่วมกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ดำเนินโครงการการพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ด้วยการใช้ตลาดเชิงกลยุทธ์และการมีส่วนร่วม โดยเลือกจังหวัดสุโขทัยเป็นต้นแบบดำเนินโครงการ เบื้องต้นพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารร่วม 4 เส้นทาง ล่าสุดจัดกิจกรรมสำรวจเส้นทาง (FAM Trip) นำผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ร่วมฟังบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารใน ณ จังหวัดสุโขทัย และลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสัมผัสกิจกรรมจริง โดย อพท.และทีต้าจะนำข้อเสนอแนะจากการจัดกิจกรรมในทริปนี้ ไปปรับปรุงก่อนนำเสนอขายต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งเป้าหมายหลักจะเป็นชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวคนไทยที่สนใจ
โดยในการพัฒนา อพท.ใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการท่องเที่ยว และสร้างการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทนำเที่ยว (Tour Agency) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ตลาด และสามารถนำไปขายในตลาดท่องเที่ยวได้จริง นอกจากนี้ อพท.ยังได้นำเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ "อพท.น้อย" ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ
...
สำหรับ 4 เส้นทาง ประกอบด้วย Evening Countryside Sunset Tour / Ancient Sukhothai Dessert Hopping / Sawankhalok Art & Food Tour และ Historical Sukhothai Food Tour by Local Truck ชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นจะได้ใช้กิจกรรมครั้งนี้ทดลองนำเสนอผลิตภัณฑ์และการให้บริการจริง เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์จริง สามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับให้บริการกับนักท่องเที่ยวจริงต่อไปได้
"เลือกดำเนินการที่สุโขทัย เพราะเห็นศักยภาพและความพร้อมในหลายด้านของจังหวัดนี้ อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวสวยงามและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีอาหารอร่อยขึ้นชื่อที่บางชนิดมีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน มีอัตลักษณ์การปรุง อาหารเฉพาะท้องถิ่น ไม่สามารถหารับประทานที่อื่นได้ เช่น ข้าวเปิ๊บและขนมแดกงา เป็นต้น"
อพท.มั่นใจว่ากิจกรรมที่พัฒนาขึ้นนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสประสบการณ์การทำอาหารและลิ้มลองรสชาติ ความอร่อยตามเอกลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย ชุมชนเห็นคุณค่าของอาหารประจำถิ่นซึ่งมีความเป็นอัตลักษณ์ เกิดเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่งดงามให้คงอยู่ในชุมชน เกิดเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง นักท่องเที่ยวเมื่อเกิดความประทับใจ จะเกิดการบอกต่อและกลับมาเที่ยวซ้ำ สร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชน
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ใน 3 ของการเดินทาง เป็นการจับจ่ายเรื่องอาหารและปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะได้เรียนรู้ ได้สัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ผ่านการสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชน โดยมีอาหารเป็นปัจจัยหลักในการสร้างประสบการณ์ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ เช่น การทดลองทำอาหาร ทำของที่ระลึกในท้องถิ่น และการเที่ยวชมสถานที่ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับใช้ปรุงอาหาร อพท.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว จึงใช้เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มและกระจายรายได้ โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากอาหาร ผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินและใช้เวลามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม อพท.เคยพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารแห่งแรกที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยเข้าไปศึกษาและวิเคราะห์อัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร คือ บะหมี่ชากังราว เกิดเป็นสัญลักษณ์ในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งเป็นการอนุรักษ์รากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และจะนำไปสู่มิติของความยั่งยืนของชุมชนต่อไป.
...