โชว์เทคนิค"ปลูกหญ้าแฝกคลุมหญ้า" ในแปลงมะม่วงได้ผลดีเหลือเชื่อ สร้างอาชีพเกษตรกรอยู่ดีกินดี กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย เร่งส่งเสริมเกษตรกรปลูกทำดินอุดมสมบูรณ์
จากการที่นายพิชัย ได้ลาภ หมอดินอาสาประจำตำบลหนองบัว นำหญ้าแฝก มาปลูกรอบทรงพุ่มมะม่วงนั้น ใครๆ ก็ต่างหาว่านายพิชัยนั้นบ้า นำหญ้าแฝกมาปลูกทำไมให้รกสวน ซึ่งเกษตรกรรายอื่นยังไม่รู้ถึงประโยชน์ของการปลูกหญ้าแฝกเพื่อคลุมหญ้าที่เป็นวัชพืชต่อไม้ผลต่างๆ ที่เกษตรกรปลูก
กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย จึงลงพื้นที่สร้างความรับรู้ให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ทำการเกษตร อีกทั้งยังสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างๆ และผู้สนใจทั่วไป นำไปปลูกเอง และแนะนำการใช้ประโยชน์ทุกส่วนของหญ้าแฝก เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากหญ้าแฝกที่ปลูก
นายพิชัย ได้ลาภ หมอดินอาสาประจำตำบลหนองบัว จ.สุโขทัย กล่าวว่า ดินบริเวณแปลงปลูกมะม่วงของตนนั้น เป็นดินทราย ซึ่งไม่สามารถดูดซับน้ำไว้ได้ ช่วงฤดูฝนเมื่อฝนตกมาน้ำก็ไหลไป เมื่อมีโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้ามา ตนจึงได้ไปอบรมเรื่องหญ้าแฝก และนำความรู้ที่ได้นำกลับมาพัฒนาในพื้นที่สวนมะม่วงของตนเอง เนื่องจากว่าสวนมะม่วงนั้น มีหญ้าที่เป็นวัชพืชขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องดูแลและถางวัชพืชอยู่ตลอด และนำหลักคิด การใช้หญ้าคลุมหญ้ามาใช้ กล่าวคือ การปลูกหญ้าแฝกรอบทรงพุ่มมะม่วง ปล่อยหญ้าแฝกให้ยาว แล้วตัดใบหญ้าแฝกคลุมใต้พุ่มมะม่วง หญ้าหรือวัชพืชชนิดอื่น ก็ไม่สามารถขึ้นมาได้ เป็นการห่มดินด้วยหญ้าแฝกตามศาสตร์ของพระราชา ทำให้ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จากแต่ก่อนที่ไม่ได้นำหญ้าแฝกมาปลูก ต้นมะม่วงที่ก็ตายบ้างเพราะวัชพืชขึ้นมาใต้พุ่มมะม่วงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากว่าสวนมะม่วงไม่ใช้สารเคมี เป็นทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
...
นายพิชัย กล่าวอีกว่า แต่เดิมพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยการทำนา แล้วผลผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ พอได้เข้าไปเป็นหมอดินอาสาในความดูแลของสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย ก็นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินชีวิต ทำให้พื้นที่ของตนนั้นสามารถปลูกพืชผสมผสาน ไม่ใช้สารเคมี ทำการเกษตรแบบอินทรีย์แบบครบวงจร และได้นำมะม่วงน้ำดอกไม้มาปลูกผสมกับนาข้าว กล้วย ซึ่งผลผลิตมะม่วงใน 2 ปีแรก จะยังไม่เก็บผลผลิตเลย ปลูกทิ้งไว้แบบธรรมชาติ แต่ก็คอยเข้าไปดูแลรักษา และตัดหญ้าแฝกเพื่อคลุมโคนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการที่ปล่อยมะม่วงให้เจริญเติบโตแบบธรรมชาตินั้น ถือว่าเป็นเทคนิคการยืดอายุของต้นมะม่วง เมื่อต้นมะม่วงเข้าสู่ปีที่ 3 ตนจึงเก็บผลิตนำมาจำหน่ายมีรายได้ปีละกว่า 10,000 บาท และนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงกวน สร้างรายได้ได้อย่างหลากหลาย มีเงินเก็บออมจากการทำการเกษตร มีรายได้คอยจุนเจือครอบครัว
ทั้งนี้ สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย เล็งเห็นถึงความสำคัญการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก จึงได้เข้ามาให้คำแนะนำส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งนายพิชัยนั้นเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัยเข้าไปสนับสนุนในเรื่องของต้นกล้าหญ้าแฝก การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกตั้งแต่รากจนถึงใบของหญ้าแฝก ทำให้นายพิชัย สามารถนำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อสู่เกษตรกรรายอื่น เปิดแปลงสาธิตและแปลงศูนย์การเรียนรู้จากหญ้าแฝก ให้เกษตรกรที่สนใจในเรื่องของหญ้าแฝก ลงพื้นที่แปลงสาธิตเพื่อเรียนรู้ประโยชน์ต่างๆ ของหญ้าแฝก ไม่ว่าจะเป็น การทำปุ๋ยหมักจากหญ้าแฝก การนำใบหญ้าแฝกมาทำเป็นตับมุงหลังคา ซึ่งเป็นอาชีพเสริม ที่ทำให้เกิดรายได้อีกทางช่องทางหนึ่งด้วย ทำให้นายพิชัย ประสบความสำเร็จในอาชีการเป็นเกษตรกร ที่ใช้พื้นที่ของตนเองปลูกพืช และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรรายอื่นๆ อีกด้วย.