แพทย์โรงพยาบาลล้านนา เตือนคนเหนือชอบบริโภคลาบดิบ-หลู้เลือด อาจเสี่ยงตาย จากโรคไข้หูดับที่มากับแบคทีเรียในเนื้อหมูดิบ และต้องเลือกซื้อเนื้อหมูที่สดใหม่ และต้องปรุงให้สุก...
เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 พญ.กัญจน์รัศม์ พิริภัณฑ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน หู คอ จมูก โรงพยาบาลลานนา จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ลาบดิบ หลู้เลือด เป็นหนึ่งในอาหารยอดฮิตของชาวเหนือ ที่มักรับประทานกันเป็นประจำ หรือเวลาที่มีงาน เทศกาลต่างๆ อาหารจำพวกนี้ก็เป็นที่นิยมกันมาก แต่ท่านเคยได้ยินมั้ยครับ ที่เคยมีข่าวคราวเกี่ยวกับคนที่เสียชีวิต หรือหูดับจากการทานหมูดิบ หรืออาหารสุกๆ ดิบๆ “สาเหตุของโรคไข้หูดับ ที่เกิดจากการทานเนื้อหมูดิบ เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส ที่อาศัยอยู่ในโพรงจมูกและต่อมน้ำลายของหมู เมื่อไรก็ตามที่หมูป่วย หรือเกิดอาการเครียด จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายหมูต่ำลง หมูก็จะป่วยจนติดเชื้อในกระแสเลือดตาย และถ้าเรานำเนื้อหมูที่ป่วยตายนั้นมารับประทาน หรือไปสัมผัสกับหมูที่เป็นโรค โอกาสที่จะได้รับเชื้อก็มีมากเช่นกัน ซึ่งก็อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกับร่างกาย ถึงเสียชีวิตได้เลยทีเดียว หากไม่มีการรักษาให้ทันท่วงที”
พญ.กัญจน์รัศม์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ คือ ผู้ที่รับประทานหมูดิบที่ติดเชื้อ คนขายเนื้อหมู ผู้ชำแหละหมู รวมทั้งผู้ที่สัมผัสเลือดหมู ขณะที่มือมีแผล หรือไปโดนแผลในร่างกาย ล้วนมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายๆ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อนี้จะมีระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมง จนถึง 3 วันเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับประมาณที่ได้รับ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย อาจจะเริ่มจากเป็นไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ถ่ายเหลว ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อมากๆ อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน ที่เรียกว่า “หูดับ” คือ หูหนวกถาวร หรือในรายที่มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย ก็จะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต เยื่อบุหัวใจ หรือเยื่อบุหุ้มสมอง ซึ่งทำให้อวัยวะทำงานล้มเหลว จนสุดท้ายหากอาการหนัก ก็อาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
...
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสี่ยงเป็นโรคหูดับ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังข้างต้น แล้วมาพบคุณหมอ ก็จะทำการซักถามอาการ ประวัติการทานอาหารที่ผ่านมา ซึ่งหากสงสัยว่าเข้าข่ายอาการของ “โรคหูดับ” ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส คุณหมอก็จะส่งตรวจในห้องปฏิบัติการด้วยการตรวจด้วยวิธี PCR ซึ่งสามารถตรวจได้ถึง DNA แยกจำเพาะโรคได้ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำ นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุด คือการไม่สัมผัสเนื้อหมู เลือดหมู ขณะที่มีแผล ควรสวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสเนื้อหมู ที่สำคัญคือ ไม่ทานเนื้อหมู หรืออาหารที่ไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ ควรปรุงอาหารผ่านความร้อนให้สุก ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่สด ไม่มีสีแดงคล้ำ หรือมีเลือดคั่งมากๆ ไม่มีกลิ่นคาว นอกจากนั้น การเลือกซื้อหมูจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยการันตีความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ที่ทานได้ด้วยเช่นกัน.