องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. พาผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 38 แห่ง จากจังหวัดเลย สุโขทัย น่าน ชลบุรี และสุพรรณบุรี ที่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปี 2559 2560 และ 2561 เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์กรต้นแบบที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ชุมชนบ้านม้ง บ้านแม่สาใหม่ เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม Craft de Quarr บ้านไร่กองขิงและ Oon Valley เมืองไอที วิถีล้านนา วันที่ 29 เม.ย. – 2 พ.ค.62 ที่ผ่านมา

ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว (สพข.) ของ อพท. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและบุคลากรต่างๆ ขององค์กรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ อพท.น้อย ได้มีโอกาสเปิดมุมมองการแข่งขันทางการท่องเที่ยวและการสร้างโอกาส เสริมสร้างจากจุดขายความเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยการนำเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มาเร็วไปเร็ว เข้ามามีส่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่และองค์กรของตนให้มีประสิทธิภาพ เกิดความยั่งยืนและเป็นไปตามมาตรฐานสากล มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่าเขาทำกันอย่างไร มีวิธีการบริหารแบบไหน จนเป็นที่ยอมรับ ได้รับงบประมาณเพื่อนำไปต่อยอดให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว ได้รับรางวัล อปท.บริหารจัดการที่ดี และเป็น อบต.โดดเด่น ที่มีการส่งเสริมทางด้านสุขภาวะที่ดี 4 ด้าน คือ กาย จิต สังคมและปัญญา ทั้งยังต่อยอดสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

...

ดร.พรสุข ยังได้นำทีมขึ้นเขาไปยังชุมชนบ้านม้ง บ้านแม่สาใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม Craft de Quarr ได้ลงไม้ลงมือเขียนเทียนบนผ้า ตอกย้ำคุณค่าของงานฝีมือ โดยการนำเอกลักษณ์และภูมิปัญญามาต่อยอดงานทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคน ผลิตแบรนด์ที่ขายไปทั่วโลก เกิดการยอมรับ สร้างอาชีพ รายได้ หมู่บ้านที่รู้จักไปทั่วโลก ได้รับรางวัลมากมาย บ้านไร่กองขิง โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดูแลรักษาสุขภาพด้วยสมุนไพร ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประกอบอาชีพ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนเป็นที่รู้จัก

Oon Valley เมืองไอที วิถีล้านนา สถานที่ที่ให้โอกาสและสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชุมชนเกิดความคิดความฝันที่อยากจะมีความสุขกับการทำการเกษตรแบบยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานด้านไอทีให้กับชุมชน เพิ่มขีดความสามารถของคนในชุมชนเพื่อการแข่งขันกับ SMEs Start Up และเกษตรกรเองก็ยังได้คิดค้น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใหม่ๆ ที่ไม่ใช้สารเคมีหรือนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาดัดแปลงให้เกิดมูลค่าแต่ยังคงไว้ซึ่งประเพณี วัฒนธรรม เอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนควบคู่กันไป

"อพท. เชื่อว่า การได้พบเห็น เรียนรู้จากสถานที่จริง ได้พูดคุย ซักถาม จะช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปสู่การต่อยอดการจัดการท่องเที่ยว ดูแลสิ่งแวดล้อม เพิ่มพูนศักยภาพ การประชาสัมพันธ์ การเข้าถึงซึ่งข้อมูลต่างๆ ส่งผลให้เกิดการประยุกต์ใช้และพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวของตนเองให้ดียิ่งขึ้นและยั่งยืนต่อไป" ดร.พรสุข กล่าว.