สานต่อไทยยั่งยืน!! สถานีพัฒนาที่ดินตาก กรมพัฒนาที่ดิน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บกักน้ำที่ไหลมาตามลำคลองสาขาให้ได้มากที่สุด และสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้ง นับเป็นการสร้างระบบนิเวศบริเวณฝายชะลอน้ำและลำคลองสาขาให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์...
นายวิโรจน์ บรรเจิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินตาก เปิดเผยหลังลงพื้นที่ ต.เชียงทอง อ.วังเจ้า จ.ตาก ว่าในการทำงานภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินตาก ภารกิจหลักๆ คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างยั่งยืน และภารกิจสำคัญคือการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินตาก ได้ดำเนินการอยู่ใน 3 อำเภอ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศบริเวณริมลำน้ำ และเพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บกักน้ำไว้ให้ยาวนานที่สุด และช่วยให้สามารถที่จะดึงน้ำหน้าฝายเข้าสู่เมืองลำเหมือง เข้าไปเลี้ยงนาข้าว แปลงผัก และบ่อปลาได้ แต่ในบางพื้นของ จ.ตาก เนื่องจากลักษณะห้วยมีความลึก ทางสถานีพัฒนาที่ดินตาก จึงสร้างฝายขึ้นมาระดับหนึ่งและมีการเก็บกักน้ำไว้หน้าฝาย จากนั้นเกษตรกรจะสูบน้ำขึ้นไปเข้าสู่ระบบน้ำของตนเอง หรือที่เรียกว่าระบบสปริงเกอร์ เพื่อให้น้ำกับลำไยที่เกษตรกรในพื้นที่ ต.เชียงทอง นิยมปลูกกันเป็นส่วนมาก และนอกจากเกษตรกรจะได้ใช้น้ำโดยตรงแล้ว หน้าฝายชะลอน้ำ ก็ยังมีปลาให้จับไปบริโภคได้อีกด้วย
...
การใช้น้ำในฝายชะลอน้ำของเกษตรกรนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่การทำเกษตรและพืชแต่ละชนิดที่เกษตรกรปลูก ดังเช่นพื้นที่ของ นายคำมูล ล่าหาญ หมอดินอาสาประจำ ต.เชียงทอง เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรในพื้นที่ ต.เชียงทอง อ.วังเจ้า จ.ตาก นิยมปลูกลำไยเป็นหลัก ซึ่งในช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรในบริเวณนี้ จะมีน้ำไม่เพียงพอ สถานีพัฒนาที่ดินตาก ได้ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำไว้ให้เกษตรกร มีน้ำใช้รดต้นลำไยได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเกษตรกรสามารถสูบน้ำในระบบสปริงเกอร์มารดต้นลำไย ทำให้ผลผลิตลำไยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้สามารถปลูกพืชผสมผสานได้ เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอ
นอกจากเกษตรกรได้ใช้น้ำจากฝายโดยตรงแล้ว บริเวณหน้าฝายชะลอน้ำ ยังมีสัตว์น้ำให้เกษตรกรได้จับไปบริโภค สร้างระบบนิเวศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยการปลูกพืชริมฝาย ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตไปเป็นอาหาร และนำไปขายเป็นรายได้เสริมได้ ซึ่งเป็นการพึ่งพาตนเอง และแบ่งปันให้เกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงกันได้อีกด้วย.