เกษตรกรบนชุมชนพื้นที่สูงบ้านเจดีย์โค๊ะ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากการไหลบ่าของน้ำในช่วงฤดูฝน สถานีพัฒนาที่ดินตาก จึงจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อกำหนดวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน รวมทั้งวิธีการเก็บกักน้ำและความชุ่มชื้นไว้ในพื้นที่ เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืนนาน ตลอดจนตระหนักถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์ดินและน้ำที่นอกจากจะช่วยลดการชะล้างพังทลายของหน้าดินแล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากการใช้ที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมั่นคง

นายรชิษ เตชะกิติกรกุล นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ เปิดเผยว่า โครงการจัดระบบอนุรักษ์ดินบนชุมชนพื้นที่สูง เป็นโครงการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งหมู่บ้านเจดีย์โค๊ะ เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่สถานีพัฒนาที่ดินตาก คัดเลือกพื้นที่ที่มีความลาดชันในสโลป ความลาดชันมากกว่า 30-35 เปอร์เซ็นต์ มีการจัดทำระบบน้ำอนุรักษ์ดินและน้ำบนชุมชนพื้นที่สูง เพื่อแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินให้กับเกษตรกร โครงการอนุรักษ์ดินและน้ำที่สถานีพัฒนาที่ดินตาก เข้าไปดำเนินการและประชาสัมพันธ์จะต้องทำความเข้าใจให้เกษตรกรได้ทราบถึงประโยชน์และที่มาที่ไปของโครงการ หลังจากนั้นก็จะเข้าไปแนะนำในเรื่องของการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำคันคูรับน้ำขอบเขา เพื่อปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ปลูกพืชผสมผสานในแปลงของเกษตรกร แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เกษตรกรปลูกอยู่ เช่น พื้นที่ของ นายจันตา กาล้อม หมอดินอาสาประจำตำบลแม่กุ ที่หันมาปลูกพืชผสมผสานบนขั้นบันไดดิน ที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินตาก เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกพืชที่หลากหลายแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

...


นายจันตา กาล้อม หมอดินอาสาประจำตำบลแม่กุ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินตากลงพื้นที่ช่วยเกษตรกรบนชุมชนพื้นที่สูง ส่งเสริมเกษตรกรทำขั้นบันไดดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชบนพื้นที่ลาดชัน โดยการปลูกพืชยืนต้นตามขั้นบันไดดิน และปลูกพืชผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างที่ตนเองเคยทำมา เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย สามารถสร้างรายได้ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พอกินพอใช้อยู่ตลอดทั้งปี

การที่เกษตรกรหันมาปลูกพืชบนขั้นบันไดดินนั้น เกษตรกรจะสามารถจัดการทรัพยากรดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์พด. ต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ช่วยเหลือเกษตรกรมาโดยตลอด เป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และทำให้ดินกลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง หากเกษตรกรบนพื้นที่สูงสนใจเข้าร่วม สามารถเสนอความต้องการได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินของแต่ละจังหวัด เพื่อทำการสำรวจพื้นที่ว่าสามารถจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำได้หรือไม่ หลังจากนั้นจึงจะชี้แจงประชาสัมพันธ์ และประชุมผู้นำชุมชน และสอบถามความต้องการของเกษตรกรต่อไป.