สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย รณรงค์ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกปี 2562 หนุนปลูกหญ้าแฝก ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ลดปัญหาวัชพืช สร้างความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน

การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำการฟื้นฟูทรัพยากรดินนั้น หญ้าแฝกจะช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นไว้ในดิน ซึ่งหญ้าแฝกมีประโยชน์ทุกส่วนของลำต้น กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ช่วยดักตะกอนดินไม่ให้คันคู คลอง สระน้ำ ตื้นเขิน และการปลูกหญ้าแฝกยังช่วยให้เกษตรกรใช้ในการลดต้นทุนการผลิต เช่น ใบหญ้าแฝกสามารถนำมาคลุมช่วยรักษาความชุ่มชื้นและลดปัญหาวัชพืช ทำให้ลดสารเคมีกำจัดวัชพืช ในพื้นที่ทำการเกษตร

นางสำราญ แสนศิลา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย เปิดเผยว่า สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย รณรงค์ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกปี 2562 โดยจัดกิจกรรมการปลูกแฝก 2 กิจกรรม คือ ผลิตและปลูกหญ้าแฝก จำนวน 2,500,000 กล้า และผลิตหญ้าแฝกเพื่อแจกจ่าย 1,300,000 กล้า

...

โดยกิจกรรมผลิตและปลูกหญ้าแฝก จำนวน 2,500,000 กล้านั้น สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย มีแผนนำไปปลูกในพื้นที่ จ.สุโขทัยคือ หมู่ที่ 7 ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง จำนวน 100,000 กล้า ปลูกรอบแหล่งน้ำ พื้นที่หมู่ 1 บ้านป่ายาง ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย จำนวน 500,000 กล้า พื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านภูทอง ต.วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย จำนวน 300,000 กล้า พื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านวังโคนไฝ่ ต.วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย จำนวน 200,000 กล้า และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาที่ดินลุ่มน้ำ หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 ต.วังทองแดง อ.เมือง จำนวน 1,400,000 กล้า ส่วนกิจกรรม ผลิตหญ้าแฝกเพื่อแจกจ่าย จำนวน 1,300,000 กล้า สนับสนุนให้กับเกษตรกร หน่วยงาน และผู้สนใจทั่วไป นำไปปลูกเอง โดยเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัยและหมอดินอาสาให้คำแนะนำการปลูกและดูแลรักษา ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถมารับกล้าหญ้าแฝกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ที่สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย บ้านสระบัว หมู่ที่ 7 ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย

ทั้งนี้ ในพื้นที่ของ นายพิชัย ได้ลาภ หมอดินอาสาประจำ ต.หนองบัว ได้รับการสนับสนุนกล้าหญ้าแฝกแล้ว และปัจจุบันเปิดเป็นแปลงสาธิตเพื่อการเรียนรู้ปลูกหญ้าแฝกรอบทรงพุ่มมะม่วง ให้เกษตรกรรายอื่นสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ประโยชน์ของหญ้าแฝกในแปลงมะม่วง ทำให้ได้รู้ว่าหญ้าแฝกมีประโยชน์ทุกส่วนของลำต้น ทั้ง ใบ ราก และยังสามารถนำไปทำตับมุงหลังคาสร้างรายได้อีกด้วย

โดย นายพิชัย ได้ปลูกหญ้าแฝกรอบโคนต้นมะม่วง และตัดใบคลุมโคนต้น รวมทั้งคลุมแปลงมะม่วง ภายใต้หลักคิด “ปลูกหญ้าคลุมหญ้า” เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในสวนมะม่วง ส่วนใบที่คลุมดิน เมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป