ปู๊น..ปู๊น ฉึกฉัก ฉึกฉัก...
7 โมงเช้า เวลาที่ผู้คนส่วน หนึ่งยังคงนอนอุตุอยู่บนที่นอน ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง หลายชีวิตสาละวนกับการหาเงินเลี้ยงปากท้อง พ่อค้า แม่ค้า ส่งเสียงร้องเรียกลูกค้า เสียงประกาศจากทางสถานี เรียกให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยรถไฟ ขบวนที่ 111 สายกรุงเทพฯ-เด่นชัย รีบขึ้นรถ
จุดหมายปลายทางของเราวันนี้...อยู่ที่...ชุมแสง อำเภอเล็กๆของนครสวรรค์ ที่กำลังดังเปรี้ยงปร้าง จากละครให้แง่คิดชีวิตงาม...กรงกรรม ทั้ง แม่ย้อย ...อาเฮีย อาไช้ อาตง อาซา อาสี่ เรณู พิไล...ล้วนมีส่วนทำให้ชุมแสงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
พ้นเขตกรุงเทพฯ สองข้างทางที่รถไฟแล่นผ่าน มองเห็นทุ่งนาเขียวชอุ่ม สบายตา ราวเที่ยงกว่าๆ รถไฟก็เข้าจอดที่ชานชาลาสถานีชุมแสง สถานีรถไฟเล็กๆ ที่ยังคงมีกลิ่นอายและร่องรอยความมีเสน่ห์ในอดีต และผู้คนยังคงใช้สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมต่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
มาถึงชุมแสง ก็ต้องยกหูคุยกับคนคนนี้เลย “ปริยวัชร สิงห์เรือง” หรือ ปลัดแดง ลูกบ้านมะขามเรียง ตำบลฆะมัง อ.ชุมแสง ที่จากถิ่นเกิดไปรับราชการเป็นปลัดอำเภอ ที่ทำการปกครองจังหวัดอุทัยธานี ถามถึงเรื่องราวของชุมแสง ปลัดแดง เล่าให้ฟังว่าแม้เป็นอำเภอเล็กๆ แต่ชุมแสงเป็นดินแดนที่มีเรื่องราวมากมาย แต่ก่อนร้านขายทองเยอะมาก อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ที่สำคัญที่นี่ยังเป็นแผ่นดินประวัติศาสตร์และมีวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจคือชาว ชาวไทดำ หรือ ไทยทรงดำ บ้านไผ่สิงห์
...
ปลัดแดง บอกว่า หากมาชุมแสงควรเดินเล่นชมตลาดเก่า เริ่มจากสักการะศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ชุมแสง ที่มีเรื่องเล่า ตำนานเจ้าพ่อคลองจระเข้เผือก อายุกว่า 115 ปี เป็นศาลเจ้าซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวชุมแสง แต่ละปีจะมีการจัดงานสมโภช 2 ครั้งในเดือน ก.พ. และเดือน ธ.ค. ข้างๆศาลมีป้ายแนะนำร้านอาหารอร่อยในตลาดชุมแสง เป็นลายแทงให้นักท่องเที่ยวนักกินเสาะหาของอร่อยใส่ท้อง มีทั้ง ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อเฮียตุ๋ย, ร้านก๋วยเตี๋ยวผัดไทยริมน้ำ, ร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าตาโก๊ะ, ร้านหมูกระทะป๋าลือ, ร้านกวยจั๊บเจ๊ฮุง, ร้านไอศครีมเจ๊มาลัย ร้านขนมผักกาด ฯลฯ
จากศาลเจ้าเดินมาไม่ไกลก็ถึงจุดถ่ายรูปเก๋ๆ ที่เพิ่งทำขึ้นเพื่อให้เป็นจุดเช็กอินสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งก็มาจากความโด่งดังของละครกรงกรรม...นั่นเอง ทั้งป้าย ร้านอัศวรุ่งเรืองพานิช ทำเป็นห้องแถวไม้เก่า, ป้ายเมืองชุมแสง, สมาคมชาวชุมแสง, ชุมแสงแกลอรี่ แหล่งรวบรวมภาพถ่ายในอดีตของชุมแสง และที่ขาดไม่ได้ ทั้งรูป แม่ย้อย อาซา อาตง อาสี่ พิไล มีให้เลือกถ่ายรูปได้ตามความพอใจ บริเวณถนนแสงสวรรค์ เลียบแม่น้ำน่าน แถวๆหลังตลาดสดเทศบาลชุมแสง
ถัดจากตลาดเก่าร้อยปี มองเห็นสะพานหิรัญนฤมิต ที่เป็นแบบสะพานแขวน สร้างขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อให้ผู้คนจากชุมชนสองฟากฝั่งแม่น้ำ ใช้สัญจรข้ามไปมาหาสู่กัน ตัวสะพานทาสีเขียวตัดกับสีทองดูสวยงาม สะพานนี้ห้ามรถ 4 ล้อผ่าน สัญจรได้เพียงการเดิน หรือขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ เป็นอีกจุดที่มีผู้คนชอบมาถ่ายรูป
ส่วนที่หน้าตลาดชุมแสง ริมฝั่งลำน้ำน่าน จะมีพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน สร้างไว้เพื่อบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าตากสินเสด็จมาปราบชุมนุมพิษณุโลกแล้วตั้งทัพ ณ บ้านเกยไชย ปะทะกับกองทัพพิษณุโลก จนทรงได้รับ บาดเจ็บที่พระชงฆ์ (หน้าแข้ง) เพราะต้องปืน ก่อนถอยทัพกลับกรุงธนบุรี ชาวชุมแสงจึงสร้างพระราชานุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ
...
อีกเรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าชุมแสงเป็นอำเภอที่มีต้นตาลขึ้นกระจายในหลายหมู่บ้าน นับได้รวมกว่า 20,400 ต้น เป็นมรดกของผืนดินที่ธรรมชาติมอบให้ จึงเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่เรียกกันว่า ตาลหมื่นต้น เป็นวิถีชีวิตของชาวตาลบ้านเกยไชย ในอดีตเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลส่งขาย น้ำตาลสดที่บ้านเกยไชย ขึ้นชื่อเรื่องความหวาน หอม รสละมุน รวมถึงน้ำตาลเมาในช่วงฤดูเทศกาลงานบุญ ปัจจุบันชาวบ้านเกยไชย ยังคงอนุรักษ์วิถีของชาวตาลอยู่ ยังมีน้ำตาลสดแช่เย็นไว้ให้ดื่มพอชื่นใจ มีลอนตาลและผลิตภัณฑ์จากตาลมากมาย เช่น ไอศกรีมตาล จาวตาลเชื่อม อบแห้ง รวมถึงน้ำตาลปึกแท้ๆ ทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องน้ำตาล ว่ากันว่าถ้าไปชุมแสง ไม่ได้ดื่มน้ำตาลสดเกยไชย ก็เหมือนไปไม่ถึงชุมแสงและทุกปีจะมีการจัดงานเทศกาลกินตาลบ้านเกยไชยช่วงเดือนเมษายน
...
ส่วนคนที่ชอบเที่ยวแนวศาสนาวัฒนธรรม แนะนำให้ไปเที่ยว วัดเกยไชยเหนือ วัดเก่าแก่ มีแม่น้ำยมแม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันที่หน้าวัด ทำให้เห็นบรรยากาศแม่น้ำสองสี มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์มีวัตถุโบราณ เครื่องมือเครื่องใช้ รูปปั้นจำลอง ไอ้ด่างเกยไชย ที่เคยอาละวาดกินคนที่แม่น้ำน่าน บริเวณบ้านเกยไชย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย
อีกวัดที่น่าสนใจคือ วัดท่าไม้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2350 มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดธรรมจักรถาราม ในวัดมีพระพุทธรูป เรียกกันว่า หลวงพ่อสวน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น อายุกว่า 150 ปี
ในอดีต...ชุมแสง ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความคึกคักรุ่งเรืองทางด้านการค้าขาย โดยเฉพาะการค้าข้าว มีชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานค้าขาย เพราะการคมนาคมทางน้ำที่สะดวก กอปรกับมีสถานีรถไฟมาตั้งแต่ปี 2450 ชาวบ้านทั้งจากอำเภอหนองบัว อำเภอท่าตะโก จ.นครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง จะนำข้าวเปลือกมาขายที่ตลาดชุมแสง ก่อนส่งต่อไปยังท่าข้าวกำนันทรง ว่ากันว่า เรือที่บรรทุกข้าวมาขายนั้นจอดเรียงรายเต็มลำน้ำน่าน ยังไม่รวมเกวียนบรรทุกข้าวอีกนับร้อยเล่มที่จอดเรียงราย เมื่อพ่อค้ามาซื้อขายข้าวแล้วก็ต้องแวะพักค้างคืน ซื้อของกินของใช้ ทำให้ในยุคนั้นตลาดชุมแสงเป็นย่านเศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก การค้าขายอู้ฟู่สร้างเม็ดเงินสะพัดถึงวันละเป็นแสนๆบาท ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น มีถนนหลายสายตัดผ่าน รถยนต์สามารถขนส่งสินค้าได้ทั่วถึง การคมนาคมทางเรือและรถไฟก็ถูกลดความสำคัญลง ส่งผลให้ชุมแสงค่อยๆลดความสำคัญลงกลายเป็นตลาดเก่าไม่ใช่ชุมชนเศรษฐกิจเหมือนอย่างเคย
...
เดือน มี.ค.-เม.ย. ชุมแสง...ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากปลายปากกา...จุฬามณี เจ้าของบทประพันธ์ กรงกรรม
เป็นชุมแสง...ที่ภาพจำในอดีตยังคงแจ่มชัด สะท้อนอัตลักษณ์แห่งปัจจุบันที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง...