คราวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการไปประชุมสัญจร และประชุมโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่) ระหว่างวันที่ 29-30 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยตรวจเยี่ยมพื้นที่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย
ก่อนประชุม ครม.สัญจร ครั้งที่ 8/2561 ซึ่งผ่านไปด้วยความเรียบร้อย มีคำถามว่า ผลการประชุมครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย และกลุ่มภาคเหนือตอนบนอย่างไรบ้าง
...
ผลการประชุม ครม.ในภาพใหญ่ มีการอนุมัติงบประมาณ เร่งเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมต่อถนน R3A ระหว่าง ไทย เมียนมา ลาว จีน แบบไร้รอยต่อ ผ่าน 5 ด่านพรมแดน โดยหอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้เสนอผลักดันโครงการ Northern Economic Corridor (NEC) เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจร่วม 3 ประเทศ ยูนนาน-หลวงน้ำทา-บ่อแก้ว-เชียงราย บูรณาการพิธีการผ่านแดนให้สะดวกต่อการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายไม่ขยับมาระยะหนึ่ง
ครม. ยังได้อนุมัติงบประมาณการออกแบบซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยออกแบบให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงของ เชื่อมกับเส้นทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว จีน และเวียดนาม ได้สะดวกต่อการท่องเที่ยว และการค้าการลงทุน
รวมทั้งออกแบบอาคารด่านบ้านฮวก จ.พะเยา ที่จะยกระดับเป็นด่านสากลอีกช่องทางหนึ่ง จากเดิมมีเพียงด่าน จ.เชียงราย 4 แห่ง จ.น่าน 1 แห่ง และอนุมัติโครงการสร้างถนนรอบกว๊านพะเยาใหม่ โครงการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่ก่อนจะลงกว๊าน เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเฟส 2
...
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงราย เปิดเผยว่า จ.เชียงราย ได้รับการอนุมัติโครงการเร่งด่วนเน้นด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ภาคเหนือเป็นห่วงลูกโซ่ ทั้งแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ขณะนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวเข้าชม วันละ 1,000-3,000 คน
...
ทางหลวงชนบท ได้รับงบฯกลางดำเนินการราดยางถนนโดยไม่มีการขยายถนน ที่จะไปเที่ยวถ้ำฯ และจัดระเบียบร้านค้า บริเวณที่จอดรถนักท่องเที่ยว รถสุขา และจัดหาชัตเติลบัส เพื่อรับ-ส่งนักท่องเที่ยว วนรอบแหล่งท่องเที่ยวทั่วเชียงราย
ด้านการพัฒนาพื้นที่ เวียงหนองหล่ม หนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีบริเวณพื้นที่ครอบคลุม อ.เชียงแสน อ.แม่จัน เป็นจุดที่มีตำนานพื้นถิ่นเชื่อมโยงกับดอยนางนอน บนยอดดอยถ้ำหลวง ได้รับงบประมาณออกแบบการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชื่อม อ.แม่จัน-เชียงแสน การซ่อมแซมอาคารด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4, การพัฒนาเส้นทางเดินรถประจำทาง จากสนามบินแม่ฟ้าหลวงเข้าตัวเมืองเชียงราย เพื่อความสะดวกต่อผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเร่งปรับปรุงและขยายท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ตามแผนที่วางเอาไว้
...
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติงบประมาณการออกแบบ เมืองอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และเมืองสมุนไพร และโครงการฟู้ดวัลเลย์ ที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา
ส่วนเรื่อง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะยังไม่สามารถจัดหาพื้นที่นำร่องในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ แต่แผนการยังคงดำเนินต่อไป เบื้องต้นจะเลือกพื้นที่ของเอกชนที่พร้อมจะพัฒนาแทน ซึ่งได้พูดคุยกับภาคเอกชนบ้างแล้ว ในแนวทางการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าต่อไป
สำหรับอุปสรรคปัญหาการค้าการลงทุนผ่านแดนและข้ามแดนนั้น มีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์
นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย และ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขณะไปตรวจเยี่ยมรับฟังปัญหาที่หน้าด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมโยงถนน R3A นายพรเทพ อินทะชัย ประธานหอการค้าเชียงราย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นถึงศักยภาพที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม บ่อหาน-บ่อเตน-เชียงของ ใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A และ แม่น้ำโขง สิทธิประโยชน์การค้าข้ามแดน ที่จีนได้พัฒนาเรื่อง E-Commerce ที่บ่อหาน จึงเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ไทย-ลาว-จีน เพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม
“ได้เสนอให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ศูนย์กระจายสินค้า การสร้างเมืองอัจฉริยะ และการจัดตั้ง บ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างเชียงราย หลวงน้ำทา และสิบสองปันนา และการตรวจสินค้าร่วม ณ จุดเดียว โดยเชื่อมโยงท้องถิ่นและชุมชนให้ได้ประโยชน์ด้วย ด้วยการสร้างตลาดชายแดน” นายพรเทพ กล่าว
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ รถจีนผ่านแดน มีปัญหาการร้องเรียนไม่ได้รับความสะดวกในการจัดท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปมาก คมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแก้ไขอย่างรีบด่วน เรื่องโลจิสติกส์ร่วมจีน ลาว ไทย
น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าเชียงราย กล่าวว่า สภาหอการค้ากลุ่มจังหวัดได้เสนอแนวคิด Northern Economic Corridor (NEC) ต่อ ครม. เพื่อรับมือยุทธศาสตร์ BRI (Belt and Road Initiative) ได้ทัน ซึ่งต้องมีการปรับแก้ไขกฎระเบียบการผ่านแดน การข้ามแดนโดยใช้เวทีเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนเพื่อลดอุปสรรค โดยเสนอ ตามลำดับเข้า กรอ.กลุ่มจังหวัด สภาหอการค้าไทย ผ่านสภาพัฒน์ เข้า ครม.เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทางรัฐบาลรับแนวคิดนี้ไปดำเนินการต่อเนื่อง
“ที่ผ่านมาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเดินไปได้ยากมีสิ่งท้าทาย การกำหนดให้แม่สายเป็น Trade City แต่เมื่อมีการปิดด่านการค้าก็สะดุด เชียงแสนเป็น Port City เมื่อมีการปิดเขื่อนเรือขนสินค้าก็มีปัญหา และเชียงของเป็น Logistic City แต่หากการขนส่งผ่านแดนยังไม่สะดวก มีผลให้ปริมาณขนส่งสินค้าผ่านแดนข้ามแดนไม่ขยายตัวตามเป้าหมาย จึงต้องให้มีการเชื่อมโยงภูมิภาค” น.ส.ผกายมาศ กล่าว
ขณะที่ นายกิตติ ทิศสกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า ภาคเอกชนการท่องเที่ยวต้องการให้เกิดการทำ “มัลติเพิลวีซ่า” โดยการประสานให้มีการตั้งกงสุล 4 ประเทศ ลาว เมียนมา จีน เวียดนาม ใน จ.เชียงราย เพื่อพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวพิเศษ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นประโยชน์กับการท่องเที่ยวไม่เฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคเหนือจะไปทั้งภาคเหนือหรือทั่วประเทศ
“หากการผ่านแดนใช้คิวอาร์โค้ด และการจ่ายผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งได้ยิ่งทำให้การเดินทางสะดวก และจะสามารถจัดงานใหญ่ได้ในอนาคต เช่น งานพืชสวนโลก จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา จ.เชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งปัญหาต่างๆที่อยากให้หน่วยงานรัฐร่วมแก้แบบบูรณาการ” นายกิตติ กล่าว
มองแล้วหากภาครัฐและภาคเอกชนเดินหน้าไปพร้อมกัน การพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน 2 คงไปถึงดวงดาวโดยเร็วแน่.
วีระชัย ปทุมชัย