คนขับรับส่งเสาร์-อาทิตย์ เหตุเกิดตอนอยู่เพชรบูรณ์

คดีตัวอย่าง อดีต ผอ.สถานพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ถูกศาลอาญาคดี ทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 สั่งจำคุก 5 ปี ตาม ม.151 ฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หลังนำรถหลวงไปทำธุระในวันหยุดราชการ ขณะดำรงตำแหน่งระหว่างปี 54

ศาลสั่งจำคุกอดีต ผอ.สถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ ฐานใช้รถหลวงทำธุระส่วนตัว เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 อ่านคำพิพากษาคดีหมาย เลขดำที่ อท.12/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 6 เป็นโจทก์ฟ้องนางนุสรา แสนนาม อดีต ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.51 จำเลยมารับตำแหน่งเป็น ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ พักอาศัยอยู่ที่โรงแรมเอส อาร์สาขา 4 จ.เพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 1 กิโลเมตร ระหว่างที่จำเลยมารับตำแหน่งดังกล่าว ได้ให้พนักงานขับรถของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ขับรถส่วนกลางของสำนักงานไปรับที่บ้านพักมายังที่ทำงานตอนเช้าและขับรถจากที่ทำงานไปส่งยังที่พักในตอนเย็น ในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์เป็นประจำ กระทั่งต่อมาปี 54 นายรอยพราน พลหลาย และนายธนา บุญชูยะ มาทำหน้าที่พนักงานขับรถของสถานพินิจและ คุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งคู่ใช้รถยนต์ส่วนกลางของสำนักงาน รับส่งจำเลยช่วงวันทำงานทุกวัน โดยหมุนเวียนเปลี่ยนกันทำหน้าที่คนละ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ บางวันได้รับคำสั่งจากจำเลยให้ขับรถส่วนกลางของสำนักงานพาจำเลยไปทำธุระส่วนตัว การกระทำของจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ถือเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือผู้หนึ่งผู้ใดและเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กระทั่งปี 55 จำเลยย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุทัยธานี

...

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.54 มีผู้อ้างชื่อนายพิชัย พรมพล หัวหน้างานบริหารทั่วไป สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ มีหนังสือกล่าวโทษจำเลยถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งต่อมาเลขาธิการ ป.ป.ท.ได้ส่งหนังสือกล่าวหาร้องเรียนดังกล่าวไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

ต่อมาเลขาธิการ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ อาญา ม.89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 กระทั่งวันที่ 17 มิ.ย.60 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 และ 157 จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายธนาและนายรอยพราน เบิกความถึงเหตุการณ์ที่ได้รับคำสั่งจากจำเลย มีรายละเอียดสอดคล้องต้องกัน การนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้รับส่งจำเลยดังกล่าว เป็นเรื่องผิดระเบียบและกฎหมาย อาจทำ ให้พยานทั้งสองต้องได้รับโทษไปด้วย จึงเป็นการผิดวิสัยที่พยานทั้งสองจะปั้นแต่งเรื่องที่อาจมีผลร้ายต่อตนขึ้นมา ทำให้เชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความไปตามจริง ขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยอ้างมาในการไต่สวนไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาม.151 พิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา ม. 151 ลงโทษจำคุก 5 ปี