นายอภิชาติ ลาวัณย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าว เผยถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมปลูกข้าว กข 43 พันธุ์ข้าวน้ำตาลต่ำที่เหมาะกับผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและผู้ต้องการลดความอ้วน ที่ได้เปิดตัวและเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในฤดูนาปี 2559/2560 ว่า ขณะนี้ตลาดมีความต้องการค่อนข้างมาก เฉพาะปีนี้มีการสั่งข้าวซื้อข้าว กข 43 จำนวน 10,000 ตันข้าวสาร แต่ความสามารถในการผลิตยังทำได้เพียง 7,000-8,000 ตันข้าวสารเท่านั้น

สาเหตุมาจากการผลิตเมล็ดพันธุ์โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาทยังทำได้ไม่มาก เนื่องจากการปลูกในช่วงแรก การส่งเสริมยังอยู่ในเขต สุพรรณบุรี และชัยนาท มีพื้นที่ 75 ไร่ ข้าวที่ได้ ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อแนะนำส่งเสริมการเปิดตลาดให้เป็นที่รู้จักทั้งไทยและต่างประเทศ และในฤดูนาปี 2560/ 2561 ที่เพิ่งผ่านไป กรม การข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร อ.ต.ก. มกอช. และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงร่วมกันส่งเสริมปลูกในพื้นที่นาแปลงใหญ่ โดยให้สหกรณ์ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตเพื่อส่งต่อให้ภาคเอกชน

...

นายอภิชาติ เผยว่า จากการนำหลักการตลาดนำการผลิต มาใช้ในการส่งเสริมปลูกข้าว กข 43 ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันหาตลาดแนะนำคุณภาพข้าว กข 43 เพื่อสำรวจว่า ที่ไหนต้องการซื้อข้าวพันธุ์นี้บ้าง จนในที่สุดได้คำสั่งซื้อมา 10,000 ตัน ตลาดใหญ่ยังคงเป็นจีน ที่ให้ความสนใจและสั่งซื้อมากเป็นพิเศษ เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด การส่งเสริมปลูกในฤดูนาปรัง 2561 จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังพระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี และอุทัยธานี รวมพื้นที่ปลูก 3,000 ไร่ แต่ยังได้ผลผลิตแค่ 700-800 ตันข้าวสาร

ดังนั้น การส่งเสริมการปลูกในรอบถัดไป (นาปี 2561/2562) ได้วางเป้าหมายพื้นที่เพาะปลูก 120,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ชัยนาท ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครปฐม แต่เนื่องจากบางพื้นที่เกษตรกรไม่สามารถทำให้แปลงนาปลอดพันธุ์ข้าวปลอมปน ข้าวดีด ข้าวเด้ง ได้ทันฤดูเพาะปลูกที่จะถึง จึงส่งเสริมได้เพียง 30,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 9,000 ตันข้าวสาร ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของคำสั่งซื้อ.