โฮมสเตย์ในประเทศไทย ยังเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เข้ามาพักผ่อนและท่องเที่ยว สัมผัสธรรมชาติและวิถีชุมชนไทย ต่างชื่นชอบมาท่องเที่ยวพักผ่อนไม่ขาดสาย
ช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ถือโอกาสพาครอบครัว “โควสุรัตน์” ไปสัมผัสบรรยากาศโฮมสเตย์ ที่ บ้านห้วยปลาหลด ต.ด่านแม่ละเมาะ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นการส่วนตัว (จองเอง/จ่ายเงินเอง) เพื่อดื่มด่ำบรรยากาศชุมชนแห่งนี้
ไม่เพียงได้เรียนรู้วิถีชีวิตของ ชาวมูเซอดำ บ้านห้วยปลาหลด ยังทราบความเป็นมาของผืนป่าดงดิบ ที่เกิดจากกระแสพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชุมชนแห่งนี้ เมื่อ 47 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งของเที่ยวที่น่าไปเยือนในขณะนี้
...
ย้อนอดีต 60 กว่าปีที่แล้ว ชาวมูเซอดำ ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านห้วยปลาหลด เดิมเป็นพื้นที่ที่ชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) เคยอยู่อาศัยแต่ได้ย้ายถิ่นฐานไป ช่วงเวลานั้นชาวมูเซอดำเกือบทั้งหมู่บ้านทำมาหากินโดยปลูกและค้าฝิ่น รวมทั้งทำไร่เลื่อนลอย ใช้ที่ดินจนหมดความสมบูรณ์ ผืนป่ามหาศาลกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม แหล่งน้ำแห้งหาย ดินเสื่อมสภาพ เหลือเพียงภูเขาหัวโล้น
แต่ปัจจุบันกลับพลิกฟื้นพื้นที่จนกลายเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ป่าที่เข้มแข็ง เกือบสองหมื่นไร่ ตามแนวพระราชดำริของ รัชกาลที่ 9 นำมาซึ่งรายได้จากการเข้าพักโฮมสเตย์ มีรายได้ครัวเรือนรวมทั้งหมู่บ้าน กว่า 14 ล้านบาท/ปี
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวว่า จากอดีตผืนป่าห้วยปลาหลด เป็นเพียงภูเขาหัวโล้น แห้งแล้งและเสื่อมโทรม ลำน้ำแห้งขอด แต่เมื่อชุมชนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ บริหารจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรดินน้ำป่าด้วยภูมิปัญญา มีจิตสำนึกอนุรักษ์ป่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ขนาด 14,000 ไร่ จึงกลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งใน จ.ตาก
ทั้งหมดนี้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของชุมชนที่จะรักษาผืนป่าไว้ เพราะป่าเสมือนสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมูเซอดำอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “คนอยู่กับป่า เมื่อมีป่าก็มีน้ำ”
สำหรับแนวคิดการบริหารจัดการป่าและน้ำของชุมชนแห่งนี้ คือ การแบ่งขอบเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ได้แก่ ป่าชุมชน และป่าอนุรักษ์ การเพาะพันธุ์กล้าไม้ ปลูกป่าเสริมทุกปีร่วมกับอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช การกำหนดระยะเวลาเก็บผลผลิตในพื้นที่ป่า เพื่อเว้นระยะเวลาให้ป่าฟื้นฟูตัวเอง
ที่สำคัญคือมีการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ ต้นน้ำ มีการสร้างฝายชะลอและเก็บกักน้ำ กลางน้ำ จะเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการกระจายน้ำเพื่อการเกษตร ส่วน ปลายน้ำ เป็นน้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กใช้ในหมู่บ้าน
...
ส่วนพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ กาแฟอาราบิก้า หน่อไม้ มะขามป้อม และฟักแม้ว (ชาโยเต้) อโวคาโด และสตรอเบอรี่ ปลอดสารพิษ โดยมี ตลาดสินค้าเกษตรชุมชน หรือ ตลาดมูเซอ เป็นแหล่งรองรับไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สร้างรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 20,000-35,000บาท ต่อเดือน เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 1,200,000 บาทต่อเดือน หรือไม่ต่ำกว่า 14,400,000 บาทต่อปี
จึงเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศที่กองทัพบกส่งเสริมให้ชุมชนคนกับป่าอยู่ร่วมกัน สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน
นายจักรพงษ์ มงคลคีรี อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด กล่าวด้วยความซาบซึ้งใจว่า รัชกาลที่ 9 ทรงปลูก “ต้นสนสองใบ” ไว้ ที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน และมีพระราชกระแสให้ปลูกพืชที่ทำรายได้ทดแทนฝิ่น ทรงตั้ง “ตลาดมูเซอ” จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน จนเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟผสมในพื้นที่ป่า นำไปสู่การดูแลรักษาป่า ทุกคนหันมาประกอบอาชีพวนเกษตร ปลูกพืชผักแบบผสมผสาน เลิกการปลูกฝิ่น
...
“ในทางกลับกันได้อนุรักษ์ต้นไม้เดิมที่ยังคงอยู่ และปลูกป่าทดแทนจนกลายเป็นผืนป่าหนาแน่น กลายเป็นป่าดิบชื้น ขนาดใหญ่กว่า 20,000 ไร่ เป็นป่าต้นน้ำ ทำให้สัตว์ป่าหวนกลับคืนมาอยู่อาศัยในผืนป่าบ้านห้วยปลาหลด ที่มีการบริหารจัดการป่าเป็นสัดส่วน ชาวบ้านสามารถเก็บผลผลิตจากป่าตามฤดูกาล นำไปขายสร้างรายได้ ให้ครอบครัวอย่างยั่งยืน” นายจักรพงษ์ กล่าวอย่างภูมิใจ
นอกจากนี้ กองทัพบก, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรม ราชูปถัมภ์, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร องค์กรมหาชน จ.ตาก และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ถอดบทเรียนที่ชาวชุมชนบ้านห้วยปลาหลด ทำตามแนวพระราชดำริ จนสามารถเปลี่ยนภูเขาหัวโล้น ให้กลับกลายเป็นป่าดิบชื้น เป็น “ธนาคารอาหาร” ให้ชาวชุมชนเข้าไปเก็บผลผลิตจากป่าขายสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
...
ร่องลำห้วยตามสันเขาที่เคยลักลอบปลูกฝิ่น กลายเป็นแปลงผักวนเกษตร ปลอดสารพิษ เช่น กาแฟอาราบิก้า มะเขือเทศ ฟักแม้ว (ชาโยเต้) หรือมะระหวาน ฯลฯ ให้ผลผลิตตลอดปี สามารถเก็บขายและเป็นรายได้หลักให้กับชาวชุมชน
น.ส.ธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผอ.ททท.สำนักงานตาก กล่าวว่า การเยือน บ้านห้วยปลาหลด นอกจากจะได้ท่องเที่ยวชมวิถี ชีวิตของ ชาวละหู่นะ หรือ ชาวมูเซอดำ ที่น้อมนำกระแสพระราช ดำรัส รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางชีวิต ผสมผสานเข้ากับรากวัฒนธรรมชนเผ่าจนสามารถสร้างผืนป่า สร้างอาชีพ ให้กับชุมชนมากว่า 43 ปี
แต่ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันอ่อนโยนของชาวมูเซอดำดั้งเดิม ที่เรียกตนเองว่า “ละหู่นะ” หลังอพยพมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาและยูนนาน ยังคงยึดวิถีชีวิตเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพ ความอยู่รอดขึ้นอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
วัฒนธรรมของ ชาวละหู่นะ ผูกพันอยู่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ได้สะท้อนออกมาในรูปแบบวรรณกรรมปากเปล่า จากรุ่นสู่รุ่นว่า “กระดูกของเราเป็นก้อนหิน เนื้อหนังของเราเป็นดิน สายเลือดเป็นสายน้ำ ลมหายใจเป็นอากาศ และความอบอุ่นภายในกายเป็นแสงแดด” ดินเป็นตัวแทนธรรมชาติที่มีความผูกพันใกล้ชิด
หากสนใจไปสัมผัสโฮมสเตย์ “บ้านห้วยปลาหลด” ติดต่อได้ที่ นายจักรพงษ์ มงคลคีรี อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด โทรศัพท์ 09-7920-7494 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท.สนง.ตาก โทรศัพท์ 0-5551-4341
วันนี้ “ชาวห้วยปลาหลด” ยินดีมอบรอยยิ้มและความสุขให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยือนอย่างอบอุ่นและสุดแสนประทับใจ.....!
วิทยา ปัญญาศรี