ผ่านมาเกือบ 3 ปี มติ ครม.ใช้ยุทธศาสตร์การบูรณาการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน มีเป้าหมายฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และชุมชนในพื้นที่สูงให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างจิตสำนึก และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...วันนี้เริ่มเห็นผล

ด้วยมีกระบวนการที่เรียกว่า ประชารัฐ ในพื้นที่อุทยานดอยม่อนล้าน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับ...กรมอุทยาน แห่งชาติฯ คงไม่สามารถทำอะไรได้แต่ฝ่ายเดียว กระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงอื่นจะต้องช่วยกันด้วย ในเรื่องของการจัดระเบียบคน และพื้นที่การฟื้นฟูระบบนิเวศ

ปัจจุบันจึงได้ปรับการทำงานหลายอย่าง เช่น การใช้ระบบวนเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูง การแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนบนที่สูง ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านมีรายรับอย่างยั่งยืนได้ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การฟื้นฟูป่าโดยใช้ศาสตร์พระราชา

ให้ป่าฟื้นฟูเองตามธรรมชาติ เอาชาวบ้านมาช่วยกันป้องกันไฟป่า พื้นที่สภาพสูงชันมาก ไม่มีต้นไม้ใช้งบประมาณของรัฐบาล มาปลูกในแบบคิดว่าในอนาคต ราชการสามารถที่จะอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้ด้วย ไปส่งเสริมชาวบ้านให้ปลูกต้นไม้ เป็นไม้ผลก็ได้ แก้ปัญหาเขาหัวโล้น ให้มีต้นไม้ขึ้นให้ได้

แต่ในขณะเดียวกัน ราชการต้องดูแลเรื่องของอาชีพชาวบ้านด้วย มีกระบวนการส่งเสริมอาชีพ

ในวันนี้ กรมอุทยานฯไม่ได้โดดเดี่ยว มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลายหน่วยงานที่เข้ามาทางกระทรวงมหาดไทย เช่น NGO ประชาคม ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน CSR จากบริษัทต่างๆ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน.

...

สะ–เล–เต