เปิดอก ‘พ.ต.อ.ณธีพัฒน์ อัครพงศ์ธิติ’ ลูกชายวัย 17 ปี นักเรียนเตรียมทหารปี 2 ถูกรุ่นพี่ 6 คน สั่งซ่อม ธำรงวินัย จนเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ฟ้องร้องแต่สุดท้ายแถลงศาลขอยุติ เพราะไม่อยากให้ภรรยาต้องเจ็บปวด เข้าใจหัวอกพ่อแม่ เพราะตัวเองก็ร้องไห้อยู่ 3 ปี...
วันที่ 27 พ.ย. พ.ต.อ.ณธีพัฒน์ อัครพงศ์ธิติ ผกก.สส.2บก.สส.ภ.5 ซึ่งเคยสูญเสียบุตรชาย คือ นตท.กรัณฑ์ อายุ 17 ปี หลังถูกรุ่นพี่นักเรียนเตรียมทหารลงโทษ จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2550
พ.ต.อ.ณธีพัฒน์ เปิดเผยว่า ตนสูญเสียบุตรชาย คือ นตท.กรัณฑ์ อรชร นักเรียนเตรียมทหารชั้นปี 2 โรงเรียนเตรียมทหาร อ.บ้านนา จ.นครนายก ถูกนักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่ปี 3 ลงโทษจนเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ผ่านมา 11 ปี ในสมัยนั้น ตนดำรงตำแหน่ง ในชื่อเดิมพ.ต.ท.สัญชัย อรชร เป็นรองผกก.หน.สภ.กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ระยะเวลาผ่านมา 11 ปีแต่ยังจำได้ไม่มีวันลืม เกิดจากการธำรงวินัยของรุ่นพี่ชั้นปีที่ 3 จำนวน 6 คน ก่อนจะเสียชีวิตในโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งกรณีบุตรชายของตนเกิดจากการซ่อมหรือธำรงวินัย แน่นอนเห็นผลชัดเจนนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัว แต่ในช่วงเกิดเหตุก็ไม่ได้ทำร้ายโรงเรียนเตรียมทหาร ไม่ได้ให้ข่าว กล่าวโจมตี หรือวิจารณ์ซ้ำเติมแต่อย่างไร เพราะเข้าใจ ตนก็ทำหน้าที่ของพ่อส่วนโรงเรียนเตรียมก็ทำตามหน้าที่ เพียงแต่ตอนแรกฟ้องร้องโรงเรียนเตรียมทหารและรุ่นพี่ทั้ง 6 คน ต่อสู้กันเกือบ 4 ปี แต่สุดท้าย ตัดสินใจขึ้นศาลแถลงขอปิดคดี ไม่ติดใจทั้งคดีอาญาและแพ่ง ไม่ต้องการดำเนินคดีต่อเหตุเพราะสงสารภรรยากับบุตรชายอีกคนที่เรียนจบเป็นนายทหารในปัจจุบัน ไม่ต้องการให้ภรรยาหรือแม่ของลูกต้องไปนั่งฟังว่า มีใครทำอะไรกับลูกจนเสียชีวิต จึงขอแถลงปิดคดี ส่วนนักเรียนรุ่นพี่ทั้ง 6 ก็ถูกลงโทษตามความผิดของแต่ละคน
...
อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดกับบุตรชายของตน ทำให้เห็นว่า การซ่อมนั้นมีอยู่แล้วในโรงเรียนของตำรวจและทหาร แต่การซ่อมต้องมีคุณภาพและรวมถึงคนที่ดำเนินการ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุไม่ใช่ผู้หมวด หรือผู้กอง แต่เป็นนักเรียนรุ่นพี่เป็นผู้ดำเนินการเช่นเดียวกันกรณีของลูกชายตนและล่าสุดกรณีของน้องเมย เพราะเกิดจากรุ่นพี่ลุแก่อำนาจ คิดว่าตนเป็นรุ่นพี่จะรวมหัวกันขึ้นมา 1 กลุ่มเพื่อดำเนินการซ่อมหรือจวกรุ่นน้อง เหตุที่เกิดขึ้นก็มาจากรุ่นพี่บางคน ซึ่งหากไปเทียบดูแล้วรุ่นพี่เหล่านี้ก็เคยถูกซ่อมหนักๆ มาก่อน ส่วนกรณีบุตรชายของตนทราบว่าหัวโจกก็อยู่กองแพทย์ เพราะการฝึกการเรียนต่างๆ เมื่อไม่ไหวก็ต้องนอนรักษาที่กองแพทย์ ซึ่งตนไม่รู้ว่าขอบเขตของการซ่อมมีแค่ไหน แต่หากทุกคนอยู่ในระบบในขอบเขตก็จะไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น
ทั้งนี้ การซ่อมแบบปักหัวนั้น ทุกโรงเรียนทุกหลักสูตรการฝึกมีเหมือนกันหมด ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่การซ่อมแบบหมู่หรือซ่อมรวม จะบรรเทากว่าการซ่อมแบบเดี่ยวเพราะคนเดียวต้องทำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งระยะเวลาการซ่อมก็มีส่วน ส่วนตนได้เคยให้ทางโรงเรียนมีการกวดขันตรวจสอบ จนมาเกิดเหตุอีกก็ไม่อยากให้เกิดเหตุซ้ำ 2 หรือมีซ้ำ 3 ขึ้นมาอีก จากกรณีน้องเมย หลายคนก็โทรศัพท์มาสอบถาม รวมไปถึงแม่ของน้องเมย แต่ตนไม่ได้คุยอะไรมาก แต่วิงวอนให้ทุกฝ่ายหยุดแล้วหันหน้ามาคุยกัน เมื่อเกิดเหตุแล้วจะหาทางออกแก้ไขอย่างไร ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างพูดต่างวิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ
"ขอวิงวอนให้ทางโรงเรียนและผู้ปกครองหันหน้ามาคุยกัน เพราะตอนนี้น้องเมยก็เสียไปแล้ว เข้าใจหัวอกของพ่อแม่เป็นอย่างดี เพราะหลังจากสูญเสียบุตรชายไป ผมขับรถทำงานไปยังร้องไห้ ต้องใช้เวลา 3-4 ปีถึงจะดีขึ้น หากถามว่าทุกวันนี้เจ็บมั้ย ยังเจ็บอยู่ ก็พยายามทำบุญ ปล่อยวางไม่คิดมาก และวิงวอนไปถึงโรงเรียน ระบบนั้นดี แต่อยู่ที่ตัวบุคคล จะต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นมาอีก" พ.ต.อ.ณธีพัฒน์ กล่าวในที่สุด