มหาดไทย นำทีมผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยใส่ให้สนุก โค้ชชิ่งคนรุ่นใหม่ภาคใต้ พร้อมเน้นย้ำร่วมกันแก้ไขในสิ่งผิด "สืบสาน รักษา และต่อยอด" เพื่อทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
วันที่ 8 ก.ย. 67 เวลา 10.30 น. ที่ Laguna Grand Ballroom ชั้น 2 โรงแรมลากูน่า สงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการยกระดับและพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้าและงานหัตถกรรมไทย ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ครั้งที่ 3 จังหวัดสงขลา โดยมี นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นางมณีรัตน์ พรหมเขียว ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดสงขลา คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก
อาทิ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการย้อมสีธรรมชาติ อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาสร้างสรรค์วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์ ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของกิจการ แบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ ISSUE หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการ และผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รวมทั้งหมดจำนวน 100 คน ร่วมในงาน
...
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมที่ดีงามอย่างยิ่งอีกวันหนึ่งที่มีคนทั้ง 3 วัยมาอยู่ร่วมกัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตของพวกเรา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความยั่งยืนของประเทศชาติ เพราะเป็นการหลอมรวมผู้มากด้วยประสบการณ์ผนวกกับผู้ที่มีความปรารถนา ความคิดสร้างสรรค์ ให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ นิสิต นักศึกษา น้อง ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้มีความสนใจใฝ่เรียนรู้และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทย อันเป็นกรอบแห่งการเรียนรู้แห่งองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ด้วยการพระราชทาน "ความรู้" แก่พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า
พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับพี่น้องชาวปักษ์ใต้เป็นพิเศษ สะท้อนจากลายผ้าพระราชทาน คือ ลายบาติก จำนวน 8 ลาย มากกว่าลายพระราชทานในพื้นที่ภาคอื่น ด้วยเพราะพระองค์ท่านมีความผูกพันเป็นพิเศษกับพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ เจริญรอยตามเบื้องพระบาทยาตราสมเด็จย่าของพระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานและเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนคนไทยในพื้นที่ภาคใต้เป็นประจำอยู่เนือง ๆ ทุกปี
"สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้พสกนิกรไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งหน้าที่สำคัญที่สุดในการสนองพระราชปณิธานของพระองค์ท่านคือ "การทำหน้าที่ของพวกเราให้ดีที่สุด" และหน้าที่นั้นจะเกื้อหนุนเกื้อกูลให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดี ดังที่เห็นได้จากการที่พระองค์ท่านทรงช่วยเหลือพี่น้องคนไทยผ่านข้าราชการมหาดไทย อันมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการจังหวัด ปลัดอำเภอ พัฒนากร มาตลอดช่วงระยะเวลา 3-4 ปี
สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน คือ พระอัจฉริยภาพของพระองค์ ตั้งแต่การทำให้สิ่งที่เปรียบเสมือนเป็นความเชื่อดั้งเดิมว่า งานผ้าไทยหรืองานหัตถกรรมไทยจะต้องเป็นแบบดั้งเดิม ทั้ง สี ลวดลาย รวมถึงการออกแบบตัดเย็บ โดยทรงยื่นมือเข้ามาช่วยทำให้มีลายผ้าในรูปแบบต่าง ๆ เกิดเป็นสีและลวดลายใหม่ ๆ เป็นสีรุ้งหรือเรียกว่า "สีแห่งความรุ่งโรจน์" เกิดเป็นชุดที่มีความทันสมัย ถูกใจคนรุ่นใหม่
ดังนั้น ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าคณะที่มา "โค้ชชิ่ง" ในวันนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถด้านแฟชั่น จึงเป็นโอกาสที่เราได้มาจากพระบารมีและพระกรุณาธิคุณของพระองค์พระราชทานให้คณะผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยใส่ให้สนุกมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพวกเรา" นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การแก้ไขในสิ่งผิด ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ช่วยเติมเต็มต่อยอดผลิตภัณฑ์ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น จากพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานลายผ้าพระราชทาน และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ดำเนินการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยการจับมือร่วมกันกับ Partnership หรือ 7 ภาคีเครือข่าย ผสมผสานกลุ่มคนที่มีความหลากหลายก่อให้เกิดความสำเร็จและสิ่งที่ดีงามมากมายเกิดขึ้น อีกทั้งพระองค์ท่านทรงมองการไกล คือ การทำให้อาชีพและวิถีชีวิตของคนไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการคำนึงถึงการผลิตที่ใช้วัตถุดิบและสีจากธรรมชาติ จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี "Sustainable Fashion" ยกระดับคุณค่าและความสำคัญของผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งทวีคูณ ด้วยการดูแลรักษาโลกใบเดียวของเราให้สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรคนไทย
...
"ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ช่วยประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ขับเคลื่อนการใช้สีธรรมชาติ วัสดุตามธรรมชาติ นำมาใช้ในการผลิตมาเป็นงานผ้าทำให้เราได้รับการรับรองด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และอนุมัติให้ใช้ "Sustainable Fashion" ที่ได้รับพระราชทานเป็นเครื่องหมายสากลที่ช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้ชาวบ้านซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยพวกเราทุกคนต้องเพิ่มพูนมุ่งมั่นในการนำความรู้ไปผลิตชิ้นงานต่อยอดไปสู่สากล เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ รวมถึงหนังสือที่ได้รับพระราชทานคือ Thai Textiles Trend Book ซึ่งคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกได้นำไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้ประกอบการในการต่อยอดด้านอาชีพ ซึ่งทั้งหมดเป็นพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ที่พระองค์ทรงปรารถนาทำให้ผ้าไทยสามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทย ซึ่งหลายจังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากหลักแสนบาทเป็นหลักสิบล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางการแก้ไขในสิ่งผิดที่สำคัญในเรื่องจุดอ่อนของผ้าไทย คือ ภูมิปัญญาและสิ่งที่ดีงามที่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดให้กับลูกหลานเยาวชน จึงเป็นที่มาของการเชื้อเชิญให้เด็กเยาวชน นิสิต นักศึกษา มารับการโค้ชชิ่งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งทุกกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญา จากรุ่นสู่รุ่นนั้นล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตระหนักถึงแฟชั่นที่ทันสมัย ความเกื้อกูลกันข้ามวัฒนธรรม จากจังหวัดสู่จังหวัด จากภาคสู่ภาค โดยนอกจากปัจเจกบุคคลแล้ว พระองค์ท่านยังพระราชทานแนวทางในภาพรวมของคนทั้งประเทศผ่านพระราชปณิธาน "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" โดยกระทรวงมหาดไทย ผ่านการขับเคลื่อนของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เปรียบเสมือนผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด/อำเภอ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระดำริให้ข้าราชการมหาดไทยทำให้ "ครัวเรือนเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือดูแลแบบพี่น้องญาติมิตรในลักษณะของการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มบ้าน ขยายตัวเป็นหมู่บ้านยั่งยืน "Sustainable Village" ภายใต้กรอบหมู่บ้านยั่งยืนที่นำเอาความเป็นไทย ความรักความช่วยเหลือเกื้อกูลในอดีต มาดูแลครอบครัว ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งความเป็นไทยจะช่วยเหลือทำให้คนในสังคมมีความเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนขจัดความเดือดร้อนแบบพุ่งเป้าของ ThaiQM ให้สำเร็จได้
...
หมู่บ้านจะยั่งยืนได้นั้น ต้องเริ่มจากการปลูกผักสวนครัว การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลครอบครัวไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การช่วยเหลือและส่งเสริมด้านการศึกษา ซึ่งหากทุกหมู่บ้านทั้ง 80,000 กว่าหมู่บ้าน สามารถเป็นหมู่บ้านยั่งยืน "Sustainable Village" ก็จะเป็นอำเภอยั่งยืน "Sustainable District" และทั้ง 878 อำเภอ ก็จะเป็นจังหวัดยั่งยืน "Sustainable Province" รวมกันเป็น "Sustainable Country" และหากทุกชาติบนโลกใบนี้ขับเคลื่อนตามแนวพระราชดำริฯ ดังกล่าว โลกนี้ก็จะยั่งยืนและผู้คนมีความสุข ขอให้พวกเราโปรดมั่นใจว่า เราโชคดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ผู้มีพระราชปณิธานอันเปี่ยมล้นด้วยความรักความเมตตากับพวกเรา
และสุดยอดปรารถนาแห่งชีวิต คือ การแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" จึงขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คณะที่ปรึกษาผ้าไทยใส่ให้สนุก พัฒนาการจังหวัด พี่น้องกลุ่มโอทอป ศิลปาชีพ และลูกหลานผู้เป็นอนาคตของชาติ ซึ่งวันนี้เราจะมารับรู้เรื่องราวและนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในลักษณะทำทันที และขอให้ทุกท่านเป็นกำลังหลักในการสนองพระราชปณิธานเพื่อร่วมกันทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข" อย่างยั่งยืน
นายสมนึก กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการยกระดับและพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้าและงานหัตถกรรมไทย ตามพระดำริฯ จังหวัดสงขลา ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดการพัฒนางานผ้าและงานหัตถกรรมให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ช่วยทำให้ภูมิปัญญาผ้าไทยกับงานหัตถกรรมไทยมีชีวิตที่ยืนยาวด้วยการที่คนในสังคมให้การยอมรับและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน อันส่งผลให้ภาคการผลิตได้มีกำลังในการออกแบบตัดเย็บและเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการหาสมาชิกใหม่เพิ่มเติมเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้เกิดกลุ่มใหม่เพิ่มมากขึ้นซึ่งปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนของงานผ้าไทยและหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย คือ มีคนใช้ มีคนซื้อ และมีรายได้จุนเจือครอบครัว และเรียนรู้และเผยแพร่หนังสือ Thai Textiles Trend Book เล่มที่ 5 ในแนวคิดว่าด้วยการ “เชื่อมต่อถักทอภูมิปัญญา : Threads of Wisdom” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกรูปแบบการประชุมใช้การแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าอบรมมีทั้งผู้ประกอบการผ้าไทย นักเรียน และนักศึกษา จากจังหวัดสงขลา รวมจำนวนทั้งสิ้น 115 คน.
...