ปลัดกระทรวงมหาดไทย แถลงการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 ตั้งเป้ามีผลงานไม่ต่ำกว่า 7,200 ผืน ชวนช่างทอผ้าทุกประเภทส่งผลงานได้ถึง 15 ส.ค. 2567 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ส.ค. 67 ที่ห้องประชุมฟีนิกซ์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดการแถลงข่าวงานประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ, นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พ.ศ.2564 และคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์, ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE, นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE, อ.ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 เป็นงานที่สำคัญยิ่งอันเป็นพระกรุณาคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" งานหัตถกรรมและหัตศิลป์ไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นชุบชีวิตมาอย่างยาวนาน จากการที่ผ้าไทยเคยเกือบจะหมดลมหายใจไป และถึงแม้ว่าพระองค์ท่านทรงชุบชีวิตให้ผ้าไทยกลับมามีความรุ่งเรืองกว่า 50 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะในห้วงที่เกิดโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตผ้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

...

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า แต่ด้วยน้ำพระหทัยมั่นและความปรารถนาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ได้พระราชทานพระเมตตาเสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดงาน OTOP CITY 2019 และได้พระราชทานลายผ้าพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" เพื่อรื้อฟื้นชุบชีวิตผ้าไทยให้กลับมาอีกครั้ง และได้พระราชทานผ้าลายพระราชทานอีกมากมาย อาทิ ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ผ้าลายบาติกต่างๆ จนถึง ลายสิริวชิราภรณ์ ก่อให้เกิดรายได้มากมายให้กับคนไทย หนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน จนเรียกได้ว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างมีนัยสำคัญ และพระองค์ได้พระราชทานแนวพระดำริด้วยการจัดประกวดประขันให้ผู้ประกอบการผ้าได้พัฒนาฝืมือ ความประณีต การมัดย้อม การออกแบบ เพื่อประดิษฐ์ให้งานหัตถศิลป์หัตถกรรมออกมาดีที่สุด เป็นที่มาของการเพิ่มคุณค่าและยกระดับผ้าไทยจนถึงปัจจุบัน

"สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานลายผ้าที่เป็นเหมือนตักศิลาให้กับพวกเรา ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาเห็นคนไทยทุกคนช่วยกัน "สืบสาน รักษา และต่อยอด" ด้วยการไม่ลืมรากเหง้าของบรรพบุรุษ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 พระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมพี่น้องภาคอีสาน ที่บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแซ่บ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพระราชทานแบบลายผ้า "ลายสิริวชิราภรณ์" ให้แก่ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี คุณธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่มทั่วประเทศ โดยทรงเน้นย้ำว่า สามารถนำลายพระราชทานไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ซึ่งพวกเราสามารถสังเกตเห็นได้จากลายผ้าพระราชทานทุกลายล้วนมีแบบลายเก่าซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ เพราะสิ่งเหล่านี้คือ "แฟชั่น" ที่จะมีชีวิตอยู่และเกิดความมั่นคงขึ้นได้ด้วยการพัฒนา สร้างสรรค์ให้มีสีใหม่ ออกแบบใหม่ แพตเทิร์นใหม่ ดังเช่น "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ที่ทำให้เราได้เห็นหยาดน้ำตาแห่งความตื้นตันของพี่น้องประชาชน เพราะก่อให้เกิดเงินก้อนแรกที่หล่อเลี้ยงครอบครัว และส่งผลทำให้มียอดจำหน่ายผ้าไทยจาก 600 ล้านบาท เป็น 2 แสนล้านบาทได้ในทุกวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าลายผ้าพระราชทานมีคุณค่าและมีความหมายต่อพี่น้องคนไทยอย่างแท้จริง" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า สำหรับ "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" เป็นผ้าลายพระราชทานที่พระองค์ท่านทรงนำมาออกแบบเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีจำนวน 4 ลาย ได้แก่ 1) ลายวชิรภักดิ์ ที่ได้รับแรงบันดาลพระทัยจากอักษร "ว" ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า พสกนิกรคนไทยได้รับพระปกเกล้าปกกระหม่อม ให้ร่มเย็นเป็นสุข 2) ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567 ต่อยอดจากภาพพระราชทานครั้งแรก 3) ลายหัวใจ ที่สื่อถึงความรักความห่วงใยและความภักดี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 4) ลายดอกรักราษฎร์ภักดี ที่ส่งต่อยอดจากผ้าลายดอกรักราชกัญญา ซึ่งพระองค์ท่านทรงตอกย้ำ "ฝังชิป" ให้พวกเรา โดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน ที่ทำให้เห็น "Story" สะท้อนที่มา ที่ไป และความตั้งใจ นับเป็นพระกรุณาคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางให้กับคนไทยทุกคนเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีของคนไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ผ่านการจัดประกวดการออกแบบผลิตผ้าไทย ทั้งในระดับภาค และระดับประเทศ ซึ่งในการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรมในปีนี้มีเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมประกวดส่งผลงานผ้าไทย 7,200 ผืน ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าประกวดแล้วเกือบ 5,000 ผืน และยังเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2567 จากจำนวนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจและมีผู้ประกอบการทอผ้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเห็นถึงความสำคัญของงานหัตถกรรมที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชน ซึ่งทั้งหมดมาจากพระกรุณาคุณที่พระองค์ท่านพระราชทานให้พวกเราชาวมหาดไทย โดยเฉพาะข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนให้เกิดแนวทางการทำงานเชิงสร้างสรรค์ผ่าน "Story telling" เพื่อพัฒนางาน พัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะก่อให้เกิดการหนุนนำ "การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

...

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 จะทำให้เกิด "Butterfly effect" ถวายเป็นพระกำลังใจให้แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระผู้ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถในการออกแบบสร้างสรรค์ รวมถึงที่พระราชทานพระกรุณาให้คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้ที่มีความจงรักภักดี ได้สนองงานแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอเชิญชวนพวกเราทุกคนได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ไปยังพี่น้องประชาชนทุกคนให้มากที่สุด เพื่อจะได้ร่วมกันทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข"

ด้าน นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ การย้อมสี การทอ การออกแบบลวดลายและผลิตชิ้นงานให้ออกมาดีที่สุด โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 15 สิงหาคม 2567 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ ทั่วประเทศ ก่อนรวบรวมผ้าและงานหัตถกรรมส่งเข้าประกวดในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย 1.ภาคกลาง วันที่ 24 สิงหาคม 2567 จังหวัดนนทบุรี 2.ภาคเหนือ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่ 3.ภาคใต้ วันที่ 7 กันยายน 2567 จังหวัดสงขลา 4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 17-18 กันยายน 2567 จังหวัดอุดรธานี และการประกวดรอบตัดสินระดับภาค วันที่ 21 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร และรอบรองชนะเลิศ ระดับประเทศ (Semi Final) วันที่ 23 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร โดยกรมการพัฒนาชุมชน จะคัดเลือกผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าจำนวน 50 กลุ่ม/ราย จัดแสดงและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผลงานการประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ในวันที่ 25-29 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศการประกวดจะได้รับพระราชทานเหรียญรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

...

ด้าน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะส่งผ้าเข้าประกวดในครั้งนี้ เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด รวมทั้งต้องส่งผลงานตามภูมิลำเนาที่ผลิต ที่สำคัญผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น ไม่ผ่านการชัก อบ รีด หรืออาบน้ำยาเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้น ผ้าบาติก ผ้าพิมพ์ลาย ผ้ามัดย้อม เป็นไหมพันพื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ และต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างละเอียด โดยผ้าหรืองานหัตกรรมที่ส่งเข้าประกวดสามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน "ลายสิริวชิราภรณ์" ได้ทุกประเภท ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 14 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัด โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน รวมถึงประเภทงานหัตถกรรม

ขณะที่ ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายสิริวชิราภรณ์" และงานหัตถกรรม ประจำปี 2567 เป็นการเฟ้นหาผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมผ้าไทย ซึ่งเป็นกุศโลบายที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางให้กับคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกไปดำเนินการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าประกวด พระองค์จึงทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจที่เสมือนเป็นแม่เหล็กชั้นยอดในการดึงดูดให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเอง จึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าประกวดทุกคนในการร่วมกันส่งเสริมและต่อยอดผ้าไทยตลอดไป

...

ส่วน นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าประกวดทุกท่าน ตลอดจนคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกที่มีใจในการช่วยพัฒนาผ้าไทย พร้อมนำเอาสิ่งที่ดีไปถ่ายทอด ช่วยกันพัฒนางานทักษะฝีมือของคนไทยทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่น่าสนองงานพระองค์ท่านเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ทุกท่านได้มีกำลังใจทำงานต่อไป เพื่อให้พี่น้องคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน.