ผจก. เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ อีสานชี้ ไทยคือสวรรค์ของ LGBTQ+ ขณะที่ ขอนแก่น เป็น 1 ใน 3 เมืองเป็นเจ้าภาพงาน InterPride World Conference ในปี 2025 พร้อมชวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ร่วมงาน ไพรด์ ขอนแก่น 23 มิ.ย. 67 ตื่นตาพาเหรด "แห่ขันหมากสมรสเท่าเทียม"

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 19 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำนักงานมูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสานเพื่อไปพูดคุยกับ ปุญชรัสมิ์ ตาเลิศ อายุ 37 ปี ผู้จัดการ มูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศภาคอีสาน หลังจากที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการเห็นชอบในที่ประชุมวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อย โดยที่ประชุมมีจำนวนผู้ลงมติ 152 คน ถือว่าครบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ลงคะแนน 0 เสียง

ปุญชรัสมิ์ กล่าวว่า ได้มีโอกาสติดตามการพูดครั้งแรกจนถึงการลงมติดีใจที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยผ่าน หลังจากขับเคลื่อนกันมานานมากว่า 23 ปี รู้สึกขอบคุณที่เห็นความสำคัญของมนุษย์คนหนึ่ง ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย และเป็นคนที่อยากแต่งงานหรือสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเหมือนชายหญิงทั่วไป เป็นนาทีประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่รู้สึกว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกคนจริงๆ เพราะการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย สิ่งที่จะทำให้ทั่วโลกจับตามองประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่มีกฎหมายแต่ต้องเป็นการยอมรับด้วยหลักกฎหมายว่า เห็นคุณค่ามนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา

...

"กฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สังคมโลกได้มองเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมจะโอบรับทุกความหลากหลายโดยเฉพาะในมิติเรื่องเพศ เป็นก้าวสำคัญที่จะพูดได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับทุกคนโดยไม่แบ่งแยก พอกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว เราจะต้องไปทำความเข้าใจกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคนที่เป็นนายทะเบียนจดทะเบียนสมรส ให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ต้องมีความเข้าใจในหลักเพศ 4 มิติ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันกับผู้หญิง ผู้ชายที่มาจดทะเบียน เจ้าหน้าที่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องรสนิยมของบุคคล และการสร้างความเข้าใจในชุมชนหรือประชาชนทั่วไปเพราะมีบางคนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่หลากหลาย เมื่อวานตอนอภิปรายมี สว. บางคนที่พูดถึงประเด็นนี้ แต่อยากให้เข้าใจว่าเราไม่ได้จะไปลดหรือไปเพิ่มอภิสิทธิ์อะไรให้ใครแต่ คือ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่บุคคลทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค" ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศภาคอีสาน กล่าว

ปุญชรัสมิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยสามารถจัดงาน World Pride ได้ แต่การที่จะเป็นเจ้าภาพได้ในปี 2030 ก่อนที่จะทำกิจกรรมระดับโลก ต้องนโยบายความพร้อมของประเทศ ที่โอบรับถึงความหลากหลายรวมไปถึงการดูแลความปลอกภัยในทุกๆ ด้าน เพราะจะมีคนที่สนใจเข้ามาในประเทศอย่างมาก อีกทั้งขณะนี้ไทยถือว่าเป็นพาราไดซ์ ของ LGBTQ+ อยู่แล้ว และก่อนจะถึงงานใหญ่ไทยก็จะจัดงาน  InterPride World Conference 2025 ในปีหน้าที่จะถึง และขอนแก่นถูกยกให้เป็นเมือง 1 ใน 3  เมืองที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน

ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศภาคอีสาน กล่าวด้วยว่า งานครั้งนี้เป็นการจัดประชุมระดับโลก ให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากทั่วโลก ได้มาเรียนรู้หรือว่ามาดูเมืองขอนแก่นว่า มีความพร้อมแค่ไหน โดยในวันที่ 23 มิ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ขอนแก่นจะจัดงาน Pride Month ไฮไลต์จะเป็นขบวนพาเหรดแห่ขันหมากสมรสเท่าเทียม จะมีคู่รักหลากหลายทางเพศมาร่วมเดินขบวนด้วย โดยจะเดินจากหน้าตึกแก่นผ่านถนนศรีจันทร์ มาที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลขอนแก่นโดยในงานจะมีกิจกรรมมากมาย คาดว่าจะมีผู้ที่สนใจ และให้การสนับสนุนรวมไปถึงนักท่องเที่ยวมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก.