ธุรกิจค้าปลีกโคราชซบเซา กำลังซื้อผู้บริโภคลดฮวบ เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นไปต่อไม่ไหว ขายกิจการทิ้งต่อเนื่อง ด้านเจ้าของร้านหมอยาพลาซ่า ขอให้รัฐบาลเร่งอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เสนอปลุกชีพคนละครึ่งกลับมาอีกครั้ง

จากข้อมูลแหล่งข่าววงการค้าปลีกและค้าส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา ได้ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งหลายแห่งต้องปิดตัวหรือเปลี่ยนมือกิจการ สาเหตุหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลง ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) ประสบปัญหารายได้น้อยลง และสภาพคล่องลดลงอย่างรุนแรง หลายธุรกิจเก่าแก่ต้องปิดตัว หรือถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทจากจังหวัดอื่น เช่น อุบลราชธานี และ สุรินทร์

ล่าสุด วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าปลีกท้องถิ่น คือ ร้านหมอยาพลาซ่า สาขาหนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบว่าภายในร้านมีลูกค้าบางตาอย่างเห็นได้ชัด โดย นายจักริน เชิดฉาย เจ้าของร้านหมอยาพลาซ่า เปิดเผยว่า ยอมรับว่าช่วงนี้เศรษฐกิจในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซบเซามาก เนื่องจากกำลังการซื้อของลูกค้าลดลง ส่งผลให้ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งต่างๆ ในพื้นที่ ต้องมีการปรับตัวอย่างหนัก เพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะร้านค้าปลีกที่เป็นแบรนด์ของคนในท้องถิ่น พบว่า ขณะนี้มีอย่างน้อย 3 แบรนด์ บางแบรนด์มีร้านมากกว่า 20 สาขา ที่เริ่มขายสาขาให้เจ้าอื่นไปหลายสาขาแล้ว

...

เจ้าของร้านหมอยาพลาซ่า กล่าวต่อว่า สาเหตุนอกจากกำลังซื้อที่ลดลงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาผสมโรงด้วย อย่างเช่น การแข่งขันที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการรุ่นเก่าเริ่มเหนื่อยกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันทายาทรุ่นใหม่ก็ไม่มาสานต่อธุรกิจค้าปลีกของครอบครัว เป็นต้น ทำให้ต้องตัดสินใจขายกิจการให้เจ้าอื่นที่มีความพร้อมกว่าไปทำต่อ เช่น ตนเองก็อายุมากแล้ว ทายาทก็ไปเรียนด้านแฟชั่น เขาก็อยากไปทำอาชีพที่เขารัก ตนเองที่เคยปั้นธุรกิจค้าปลีก มีสาขามากถึง 19 สาขา ตอนนี้ก็ได้ขายสาขาให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นรายใหญ่ของโคราชไป จนขณะนี้เหลืออยู่เพียงแค่ 9 สาขาเท่านั้น

นายจักริน กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ตนเองก็อยากจะให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในต่างจังหวัด ให้สามารถไปต่อได้ โดยอยากฝากถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็อยากให้นำนโยบายคนละครึ่งของรัฐบาลที่แล้วมาปัดฝุ่นใหม่ เพราะนโยบายคนละครึ่งนั้นสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าได้ดีมาก และทำให้ร้านค้าปลีกต่างๆ ที่อยู่ในชนบทได้รับอานิสงส์ขายดีไปด้วย เพียงแต่รอบนั้นมีผลทำให้เกิดการเก็บภาษีย้อนหลังกันเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายร้านเริ่มไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะเขากลัวภาษีย้อนหลัง ถ้าอยากให้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากๆ ก็แก้ปัญหาด้วยการกำหนดจากยอดขายที่ไม่มาก เช่น ถ้าร้านใดยอดขายไม่ถึง 1 แสนบาท ไม่เก็บภาษีย้อนหลัง อย่างนี้จะดีมาก.