เช็กราคาพริกขี้หนู ที่ตลาดสดบางลำภู เทศบาลนครขอนแก่น แพงสุดอยู่ที่ กก.ละ 400 บาท ด้าน ร้านอาหาร ข้าวแกง ตามสั่ง เริ่มปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ แต่คงคุณภาพและราคายังคงเดิม เน้นลูกค้าได้กิน ร้านค้าอยู่ได้
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พ.ค. 2567 ที่ตลาดสดบางลำภู ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจราคาพริกขี้หนู ภายหลังมีการปรับราคาขึ้นสูงสุดมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการสำรวจราคาพริกขี้หนูจากพ่อค้าแม่ค้าในแต่ละร้านพบว่า ราคาพริกขี้หนูอยู่ที่ กก.ละ 350 บาท–400 บาท
น.ส.มลรินทร์ ภูสีน้ำ อายุ 37 ปี แม่ค้าขายผักสด ร้านแม่เพ็ญผักสด กล่าวว่า ราคาพริกขี้หนูในปีนี้ถือว่าแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ราคาขึ้นจากปกติในช่วงเดียวกันถึงสองเท่า โดยราคาพริกขี้หนูตอนนี้อยู่ที่ กก.ละ 350 บาท แบบยังไม่เด็ดขั้ว แต่หากเด็ดขั้วออกจะขายอยู่ที่ราคา กก.ละ 400 บาท และแบ่งขายเป็นขีด ราคาขีดละ 40 บาท ส่วนผักอื่นๆ ก็มีการปรับขึ้นเช่นกัน แต่พริกขี้หนูตั้งแต่ขายมาปีนี้ถือว่าแพงที่สุดเท่าที่เคยเห็น
...
แม่ค้าขายผักสด กล่าวต่อว่า สาเหตุที่พริกขี้หนูแพงส่วนหนึ่งคงขึ้นอยู่กับกลไกตลาด และค่าขนส่ง รวมทั้งสภาพอากาศซึ่งช่วงที่ผ่านมาสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้พริกขี้หนูไม่ค่อยออกผลผลิต ทำให้ขาดแคลน แต่ช่วงนี้มีฝนตกลงมาเชื่อว่าราคาจะค่อยๆ ปรับลงตามลำดับ ส่วนพริกอื่นๆ นั้น ราคาปรับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่จะมีเฉพาะพริกขี้หนูสวนที่ราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่เคยขายมา ทำให้บรรยากาศการซื้อขายพริกและผักต่างๆ ลูกค้ามีการปรับเปลี่ยนซื้อน้อยลงและบ่นว่าแพง
ด้าน น.ส.ณัฐศิมา แก้วอ่อน อายุ 52 ปี เจ้าของร้านอาหารใต้ ลองแลต่ะ ที่เดินทางมาซื้อวัตถุดิบสำหรับไปทำอาหาร กล่าวว่า ตอนนี้ทั้งพริกและผักต่างๆ ปรับราคาขึ้นสูงจนแทบจะจับต้องไม่ได้ บางชนิดซื้อไปก็แทบไม่ได้กำไร ส่วนตัวพยายามปรับเปลี่ยนวัตถุดิบแต่คงคุณภาพ และราคาเหมือนเดิมเพื่อไม่ให้เสียลูกค้าไป จากเดิมที่เคยซื้อเยอะ สต๊อกของไว้เยอะๆ ก็จะลดลงเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ จากหลักหมื่นเป็นหลักพัน เพื่อให้เงินไม่จมจะได้มีเงินหมุนเวียนในแต่ละวัน และจะบอกลูกค้าว่าวัตถุดิบแพงก็จะไม่ใส่ เช่น พะแนง ก็ไม่ใส่มะเขือพวงที่ราคากก.ละ 2,000 บาท เมื่อราคาลดลงจึงจะนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร แต่คุณภาพและราคาจะไม่มีการปรับแต่อย่างใด เพื่อรักษาลูกค้าเอาไว้ เมื่อลูกค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้
เจ้าของร้านอาหารใต้ กล่าวด้วยว่า ส่วนสาเหตุที่บอกว่ามาจากภาวะเศรษฐกิจนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อ แต่คาดว่าจะเป็นเพราะต้นทุนการขนส่ง เพราะรับของมาจาก จ.เพชรบูรณ์ แล้วลงของที่ กทม.ก่อนจะกระจายให้กับพ่อค้าแม่ค้ามาขายในแต่ละจังหวัด แทนที่จะขนส่งจากต้นทางไปยังจังหวัดนั้นเลย เพื่อลดราคาเชื้อเพลิงในการขนส่งลง เพราะผลิตผลต่างๆ ในพื้นที่การผลิตราคาไม่กี่บาท พอผ่านพ่อค้าคนกลางก็มีการปรับราคาขึ้นแล้ว จึงมาถึงมือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้บริโภค ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นจนแทบจับต้องไม่ได้ ตอนนี้ทำได้เพียงถูไถไปให้ตัวเองมีอาชีพอยู่รอดเท่านั้น.
...