ผู้ผลิตกัญชาไทย นำกัญชาไทยสายพันธุ์ไทรโยค 01 ร่วมงาน ICBC 2024@เยอรมัน ทูตพาณิชย์ไทยในเยอรมันเผย สินค้ากัญชามีอนาคตในเยอรมัน เปิดตลาดโลก นำสายพันธุ์กัญชาไทยสู่วงการกัญชาทางการแพทย์นานาชาติ โดยปรับตัวตามกฎหมายผู้บริโภคของอียู

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 เมษายน 2567 นายวิศารท์ พจน์ประสาท ประธานบริหารนิคมอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนิคมสมุนไพรสัมพันธ์ตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมนายวิศรุต ฤทธิเลิศ และนายสมาน เรืองวุฒิชนะพืช ได้เดินทางเข้าร่วมงาน International Cannabis Business Conference (ICBC 2024) ณ โรงแรม Estrel Convention Center ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมีนางสาวพัชรา รัตนบุปผา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน เข้าร่วมงาน และให้แนวทางการค้าระหว่างประเทศถึงแนวทางการจัดตั้งบริษัท ข้อกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้นักธุรกิจไทยได้นำไปพิจารณา

นายวิศารท์ กล่าวว่า วันนี้ทางนิคมอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนิคมสมุนไพรสัมพันธ์ตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ได้มาร่วมงาน ICBC ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปี 2024 โดยประเทศไทยได้รับเกียรติเชิญทุกปีจากนายอเล็กซ์ โรเจอร์ส ซีอีโอ ผู้จัดงาน ICBC เพื่อร่วมการประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น รวมถึงการประเมินสถานการณ์กัญชาในระดับโลก ว่าทิศทางและธุรกิจกัญชามีแนวโน้มมากขึ้นหรือลดลง รวมถึงความแปรผันอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ

...

ประธานบริหารนิคมอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า วันนี้ได้ข้อสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2024 ที่ผ่านมา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ออกกฎหมายว่าด้วยการจัดการกับผู้บริโภคกัญชา Consumer Cannabis Act โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ซึ่งมีสาระสำคัญกับการใช้กัญชากับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยสามารถครอบครองช่อดอกแห้งได้ไม่เกิน 25 กรัมต่อคน และส่วนการปลูกในครัวเรือนจะอนุญาตได้ 3 ต้นต่อครัวเรือน และต้องทำการปกปิดให้มิดชิด ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด เป็นการใช้ในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป และผู้บริโภคต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างชัดเจน

นายวิศารท์ กล่าวถึงกัญชาเพื่อทางการแพทย์ ว่า ส่วนทางการแพทย์ได้มีการกำหนดสาระสำคัญของสาร CBD THC รวมถึงกลุ่มอายุผู้ใช้ โดยสามารถอนุญาตให้นำเข้าได้จากต่างประเทศ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีของธุรกิจกัญชาไทย หากมีความประสงค์จะดำเนินการเกี่ยวกับช่อดอกแห้งและสารสกัด ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ มาตรฐานการปลูก โดยมีการรับรองที่ประเทศไทยและมาตรฐานการรับรองจากสหภาพยุโรป ทั้ง GACP Standard, EU GMP ซึ่งเกี่ยวกับมาตรฐานในการปลูกและการจัดการช่อดอกแห้งก่อนการส่งออก โดยจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมตามที่กฎหมายกำหนด

ประธานบริหารนิคมอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า นิคมอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์แห่งประเทศไทยได้จัดตั้งบริษัท Cenwha Intertrade ในประเทศเยอรมนี โดยมีการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจกัญชาในสภาพยุโรป เพราะต่อไปสาธารณรัฐเยอรมนีจะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจกัญชาในสหภาพยุโรป จากการประเมินรายได้รวมถึงผู้สนใจในธุรกิจกัญชาในปีนี้ พบว่ามีความคึกคักมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการซื้อขายสั่งจองล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ทั้งส่วนอุปกรณ์การผลิต การแปรรูป การทดสอบ มูลค่ารวมมากกว่าสี่พันล้านบาท

แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดคือ นวัตกรรมเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการผลิตยารักษาโรคของกัญชา ซึ่งขณะนี้นิคมอุตสาหกรรมกัญชาฯ ได้ศึกษาวิจัยที่จะนำสารสำคัญไปผลิตยากับผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวานและโรคไต ทำให้โอกาสในการดำเนินการทางธุรกิจกัญชาไทยมีมากกว่าทุกประเทศ เพราะลักษณะภูมิศาสตร์และกายภาพที่เหมาะสมกับการปลูกพืชกัญชาที่มี THC สูงมากกว่า 30%

ครั้งนี้เราได้นำสายพันธุ์ไทรโยค 01 ที่มีคุณลักษณะเด่น ไม่ใช่แค่สารสำคัญ THC แต่รวมถึง THCV CBN CBG CBC เป็นสายพันธุ์ที่ทำการปลูกและทดลองภายใต้การควบคุมและดูแลโดยเฉพาะ นับว่าเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทย ที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ เพราะพืชกัญชาจากประเทศไทยมีคุณสมบัติสูงกว่าทุกประเทศทั่วโลก โดยจะยังมีผลดีไปถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสมุนไพรควบคุม “กัญชา” แต่จะต้องปรับตัวอย่างมากในเรื่องมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้เข้ากับข้อกำหนดและการควบคุมตามที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในเรื่องของกัญชาทางการแพทย์ ส่วนผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ www.cenwha.com

...

ด้านนางสาวพัชรา รัตนบุปผา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน เปิดเผยว่า รู้สึกตื่นเต้นและภาคภูมิใจในตัวนักธุรกิจในกลุ่มกัญชาของไทยที่ได้แสดงศักยภาพ ได้ประชาสัมพันธ์ธุรกิจกัญชาของไทยในเวทีสากล โดยเฉพาะในงาน ICBC ที่กรุงเบอร์ลิน สาธารณรัฐเยอรมนีในครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เราได้ประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมของประเทศไทย ในฐานะที่จะก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจกัญชาในอนาคต

...

ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ธุรกิจกัญชาในเยอรมันก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด เติบโตเรื่อยมาในช่วง 6 ปี จะพบว่าปริมาณการนำเข้าของกัญชาเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วงปี 2017 มีการนำเข้ากัญชา 1,700 กิโลกรัมเท่านั้น และเติบโตเรื่อยมาแบบก้าวกระโดด จนถึงปี 2022 การนำเข้ากัญชามีปริมาณถึง 24,000 กิโลกรัม ตัวเลขเหล่านี้เพียงแค่ 6 ปี โตขึ้นมา 14 เท่า ถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อหลังจากที่รัฐบาลเยอรมันได้ผ่านกฎหมายให้ผู้บริโภคสามารถครอบครองกัญชาในทางสันทนาการได้แล้ว ก็เป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศเยอรมัน ที่จะทำให้ธุรกิจกัญชาเติบโตมากขึ้น ปัจจุบันความน่าสนใจของธุรกิจนี้ สะท้อนให้เห็นจากบริษัทสตาร์ทอัพหลายๆ แห่งในเยอรมัน เริ่มเข้ามาลงทุนและก้าวเข้ามาในตลาดมากขึ้น

“เหล่านี้เองก็เป็นตัวสะท้อนที่สำคัญว่าธุรกิจกัญชาในเยอรมันมีอนาคตที่สดใสแน่นอน ซึ่งตรงนี้จะเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยและสินค้าของไทยได้เจาะตลาด และก้าวเข้ามาขายในภูมิภาคยุโรป โดยใช้เยอรมันเป็นแพลตฟอร์ม” นางสาวพัชรา กล่าว.