ธุรกิจข้าวนึ่งเริ่มตึงตัว จ่อปรับขึ้นราคา หลังราคาข้าวสารขึ้นตันละ 1.1 หมื่นบาท ยังกัดฟันยืนราคาเดิมเพื่อลูกค้า แต่ถ้าต้นทุนพุ่งจนไม่ไหว คงปรับราคาขายเป็น 3 ถ้วย 10 บาท วอนรัฐช่วยผู้มีรายได้น้อย

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เพื่อสำรวจราคาและผลกระทบของผู้ประกอบการร้านขายข้าวนึ่ง หลังนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรกรไทยออกมาระบุว่า ราคาข้าวของไทยในปีนี้ถือว่าดีที่สุดในรอบ 16 ปี โดยเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง และการระงับการส่งออกข้าวของประเทศอินเดีย ทำให้ความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นายสมชาย รักษาดี อายุ 48 ปี ชาวบ้าน ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หนึ่งในผู้ประกอบการร้านขายข้าวนึ่ง เปิดเผยว่า ครอบครัวตนเปิดร้านขายข้าวนึ่งมาแล้ว 25 ปี ขั้นตอนในการนึ่งข้าว ทางร้านจะใช้เศษไม้ที่ซื้อมาจากร้านไม้เก่าในราคากระสอบละ 120 บาท ทดแทนการใช้แก๊สหุงต้ม ซึ่งนอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้ว ยังช่วยให้ข้าวสุกทั่วถึง อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมกว่า ในแต่ละวันต้องซื้อข้าวสาร แบ่งเป็นข้าวสารเจ้าประมาณ 90 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิประมาณ 25 กิโลกรัม ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกล้อง อย่างละ 1 กิโลกรัม นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นข้าวนึ่งพร้อมรับประทานในราคา ข้าวเจ้า 1 ถ้วย 3 บาท, 2 ถ้วย 5 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวกล้อง ถ้วยละ 5 บาท

...

ผู้ประกอบการร้านขายข้าวนึ่ง กล่าวต่อว่า แต่หลังจากช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ปัญหาฝนทิ้งช่วงจากภาวะเอลนีโญ ประกอบกับประเทศอินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศไทยขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาข้าวสารเจ้าจากเดิมถังละ 280 บาท (15 กิโลกรัม) ปัจจุบันอยู่ที่ถังละ 350 – 380 บาท และข้าวหอมมะลิจากเดิมถังละ 460 - 480 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ถังละ 500 - 520 บาท ส่วนตัวยอมรับว่าราคาข้าวสารที่สูงขึ้น ทำให้รายได้ของร้านลดลง

อย่างไรก็ตาม ทางร้านก็ยังคงเลือกขายในราคาเท่าเดิม เนื่องจากเห็นใจลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่หากในอนาคต ราคาข้าวสารมีการขยับราคาขึ้นอีก จนทางร้านอยู่ในภาวะที่แบกรับไม่ไหว ก็คงต้องตัดสินใจปรับราคาขายเป็น 3 ถ้วย 10 บาท ตนได้แต่หวังว่า รัฐบาลจะเข้ามาดูแลให้เกิดความสมดุล ทั้งในส่วนของราคารับซื้อข้าวที่ยุติธรรมให้กับชาวนา ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน จากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย.

...