แม่น้ำโขงที่ จ.บึงกาฬ ระดับน้ำลดเหลือ 1.80 เมตร ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านฝั่ง สปป.ลาว ออกจับปลาในแม่น้ำโขง ได้ปลาหว้าหน้านอ 1 ในปลาหายาก หลังโผล่กินสาหร่ายตามเกาะกลางแม่น้ำ ขณะที่ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ฝั่งไทยคืบหน้าไปแล้ว 68%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง บริเวณจุดวัดระดับน้ำบ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ วันนี้วัดได้ 1.87 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 12.03 เมตร ระดับน้ำที่ลดลงยังทำให้เกิดสันดอนทราย กลางแม่น้ำโขงหลายจุด น้ำนิ่งไหลช้า จนเกิดตะไคร่หรือสาหร่ายบริเวณรอบๆ เกาะแก่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่บริเวณกลางแม่น้ำโขง โดยเฉพาะดอนไข่ ดอนน้อย ที่อยู่บริเวณตรงข้ามบ้านไคสี ม.6 ต.ไคสี อ.เมืองบึงกาฬ
...
ขณะที่ ชาวประมงพื้นบ้านฝั่ง สปป.ลาว ออกเรือไหลมองจับปลา และใส่ลอบดักปลารอบๆ เกาะดอนดังกล่าว จนสามารถจับปลาหว้าหน้านอ ปลาที่นับได้ว่าพบเจอและหายากมากในรอบกว่า 20 ปี ได้มา 1 ตัว นำมาผูกไว้กับเรือบนเกาะดอนไข่ ชาวประมงพื้นบ้านชาวไทย หลังรู้ข่าวได้ไปดูพบว่าเป็นปลาหว้าหน้านอจริง น้ำหนักราว 3 กิโลกรัม เป็นปลาที่หายากและใกล้ที่จะสูญพันธุ์แล้ว ซึ่งพยายามขอซื้อแต่ชาว สปป.ลาว ไม่ขาย
สำหรับ ปลาหว้าหน้านอ มีลักษณะเด่น คือ ปลาโตเต็มวัยแล้ว โดยเฉพาะตัวผู้ ส่วนหัวจะมีโหนกและตุ่มเม็ดคล้ายสิวเห็นได้ชัด จึงเป็นที่มาของชื่อ ริมฝีปากหนา หากินบริเวณพื้นน้ำและแก่งหินที่น้ำไหลเชี่ยว โดยแทะเล็มตะไคร่หรือสาหร่าย จัดเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) อาศัยอยู่ตามแม่น้ำสายใหญ่ๆ ในประเทศ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง, แม่น้ำสาละวิน ในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเรียกปลาชนิดนี้ว่า "ปลางา" และภาษาอีสานเรียกว่า "หว้าซวง" ปัจจุบัน พบหาได้ยากในธรรมชาติ แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว เนื้อมีรสชาติอร่อย นิยมปรุงสด และเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ซึ่งค่อนข้างหายาก
ขณะเดียวกัน ที่บริเวณโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทั้งฝั่งไทยและฝั่ง สปป.ลาว กลับทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นหลังแม่น้ำโขงน้ำลด โดยทั้ง 2 ฝั่ง เริ่มเร่งมือนำเครื่องจักรเข้าหน้างานก่อสร้าง เทปูนหล่อชิ้นรูปตอม่อสะพานทั้ง 4 ต้น เพื่อให้ตอม่อสะพานเป็นรูปเป็นร่าง โดยการก่อสร้างงานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย เสร็จไปแล้ว 68.663% และงานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว เสร็จแล้ว 74.800% ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 3 ก.ย. 67 นี้.
...