สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มุ่งมั่นขับเคลื่อนแก้ปัญหาบนพื้นที่สูง แก้ปัญหาความยากจนและสิ่งแวดล้อม ทั้ง อ.แม่แจ่ม เชียงใหม่ บ้านหนองเขียว แม่ฮ่องสอน และบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ พร้อมผลักดันอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 66 ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. พร้อมด้วย นางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ร่วมกันแถลงผลการพัฒนาพื้นที่สูง โดยตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง) สวพส. ได้มุ่งดำเนินภารกิจสำคัญอย่างครบวงจร คือ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับใช้พัฒนาพื้นที่สูง ดำเนินงานพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญโดยเฉพาะปัญหาความยากจน การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการเรียนรู้ให้ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมีอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ
...
ปัจจุบัน สวพส. ได้ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2,000 กลุ่มบ้าน จากพื้นที่สูงทั้งหมดจำนวน 4,205 กลุ่มบ้าน ทั้งการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยนำหลักวิธีการปฏิบัติและองค์ความรู้โครงการหลวงไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ของพื้นที่ ส่งผลให้มีการสร้างประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่พื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน คือ ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ สวพส. มีเป้าหมายขยายผลสำเร็จทั้งหมดไปแก้ปัญหาสำคัญบนพื้นที่สูง ที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศ ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญๆ อย่างพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, บ้านหนองเขียว จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
ด้าน นางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ยืนยันว่า อุทยานหลวงราชพฤกษ์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเรียนรู้โครงการในพระราชดำริ การเกษตรพืชสวน ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมประเพณี ภายใต้แหล่งเรียนรู้ที่สวยงาม มีมาตรฐานและปลอดภัย เป็นแหล่งให้บริการกับประชาชนและจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและธรรมชาติที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติอีกด้วย
...
ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จะได้จัดเทศกาลชมสวน 2566 ภายใต้แนวคิด “แอ่วสุขใจ I wanna be (e)” นับเป็นอีกเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่และนักท่องเที่ยวต่างรอคอยที่จะชื่นชมความงามของดอกไม้เมืองหนาวนานาพรรณ อาทิ เจอราเนียม ฟอร์เก็ตมีน็อต บีโกเนีย พิทูเนีย ซัลเวีย แพนซี คัสตี้มิลเลอร์ เดซี่ เทียนนิวกินี และอื่นๆ อีกมากมาย ที่จัดแสดงตามพื้นที่ต่างๆ ภายในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ทั้งเรือนกล้วยไม้ เรือนดอกไม้ และเรือนร่มไม้.